Default fallback image

รวมรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า มีวิธีไหนบ้าง?

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดลักษณะเหมือนเข็มทิ่ม หรือเหมือนไฟฟ้าช็อต บริเวณใบหน้า โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยแย่ลง ด้วยลักษณะโรคที่เรื้อรัง รวมถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้

ปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหลายวิธี มีทั้งแบบบรรเทาอาการให้ดีขึ้นโดยไม่ผ่าตัด ทำหัตถการแบบรุกรานน้อย และการผ่าตัดรักษาต้นเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

บรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยยา

การใช้ยา มักเป็นวิธีแรกที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก ยาที่ใช้ได้แก่ ยากลุ่มกันชัก เพื่อกั้นการส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากเส้นประสาท ยาอีกกลุ่มที่ใช้ คือ  ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน

แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรใช้ยาตัวใดรักษา เนื่องจากยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน

วิธีนี้ให้ผลลดความเจ็บปวดได้ดี แต่ไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ดังนั้นเมื่อใช้ยาไปเรื่อยๆ อาจพบว่าประสิทธิภาพการรักษาลดลง

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ด้วยการผ่าตัดด้วยรังสีแบบแม่นยำสูงบริเวณสมอง

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ด้วยการผ่าตัดด้วยรังสีแบบแม่นยำสูงบริเวณสมอง (Brain Stereotactic Radiosurgery หรือ Gamma Knife) วิธีนี้จะหยุดความเจ็บปวดผู้ป่วยได้ด้วยการทำลายเส้นประสาทไตรเจมินัล โดยเทคนิคส่งรังสีในปริมาณจำเพาะและมุ่งเป้าไปที่รากของเส้นประสาทไทรเจมินัลโดยตรง

หลังรักษาด้วยเทคนิคนี้ ผู้ป่วยจะค่อยๆ สังเกตความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือนจึงจะเห็นผลเต็มที่

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วย Gamma Knife ประสบความสำเร็จในผู้ป่วยส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อาการปวดจะกลับมาได้ โดยมักเกิดขึ้นภายใน 3 ถึง 5 ปี แต่ถ้าเป็นซ้ำอีกก็สามารถรักษาด้วยวิธีเดิมได้

ผลข้างเคียงที่มักพบได้จากการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยวิธีนี้ คือ อาการเจ็บๆ ชาๆ ที่ใบหน้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังการรักษาไปแล้วหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยวิธีผ่าตัดเจาะรูเล็ก

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยวิธีผ่าตัดเจาะรูเล็ก (Rhizotomy) การผ่าตัดเจาะรูเล็ก เป็นหัตถการแบบรุกรานน้อย (Minimally Invasive Procedure) โดยจะใช้วิธีสอดเข็มผ่านใบหน้าเข้าไปยังเส้นประสาทไตรเจมินัล แล้วทำลาย หรือทำให้เส้นประสาทดังกล่าวเสียหาย เพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดอีก

การผ่าตัดเจาะรูเล็กเพื่อรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า สามารถแยกออกเป็นเทคนิคย่อยๆ ดังนี้

1. ผ่าตัดเจาะรูเล็กเพื่อฉีดกลีเซอรอล (Glycerol Injection)

เทคนิคนี้แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ สอดเข้าทางใบหน้าผู้ป่วย ไปยังช่องเปิดที่ฐานของกะโหลกศีรษะ จากนั้นไปต่อยังถุงขนาดเล็กที่บรรจุน้ำหล่อไขสันหลัง ซึ่งอยู่รอบบริเวณที่เส้นประสาทไตรเจมินัลแยกออกเป็น 3 สาขา เมื่อเข็มอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว แพทย์จะฉีดสารกลีเซอรอลปลอดเชื้อออกมา เพื่อทำลายเส้นประสาทไตรเจมินัลและปิดกั้นสัญญาณความเจ็บปวด

วิธีนี้มักช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีก ผู้รับการรักษาด้วยวิธีนี้หลายคนมีอาการชาหรือเจ็บแปลบเหมือนถูกเข็มเล็กๆ ทิ่มหลังการรักษา

2. ผ่าตัดเจาะรูเล็กเพื่อใช้บอลลูนกดทำลายเส้นประสาท (Balloon Compression)

เทคนิคนี้แพทย์จะใช้เข็มที่มีลักษณะกลวงสอดผ่านใบหน้าผู้ป่วย เข้าไปสู่ส่วนหนึ่งของเส้นประสาทไตรเจมินัลซึ่งผ่านบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ จากนั้นจึงสอดท่อยืดหยุ่นที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลายเข้าทางเข็มกลวงนี้ แล้วควบคุมให้บอลลูนขยายจนเกิดแรงดันเบียดเส้นประสาทไตรเจมินัล จนเส้นประสาทถูกทำลายและไม่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดอีกต่อไป

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยเทคนิคนี้ให้ผลดีกับคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการชาใบหน้าชั่วคราวหลังรักษา

3. การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Thermal Lesioning)

เทคนิคนี้แพทย์จะสอดเข็มกลวงเข้าที่ใบหน้าผู้ป่วย ผ่านรูเปิดบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ เข้าไปสู่เส้นประสาทไตรเจมินัล เมื่อเข็มอยู่ในตำแหน่งที่วางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะปลุกผู้ป่วยให้ฟื้นจากยาระงับความเจ็บปวด ก่อนจะสอดอิเล็กโทรด (Electrode – อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าเข้าไปยังเนื้อเยื่อระหว่างขั้นตอนผ่าตัด) เข้าในเข็มกลวง จากนั้นส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ผ่านปลายอิเล็กโทรด แล้วให้ผู้ป่วยระบุว่าเริ่มรู้สึกชาเมื่อใดและบริเวณใดของใบหน้า

การส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ และสอบถามความรู้สึกของผู้ป่วยนี้เป็นไปเพื่อระบุตำแหน่งเส้นประสาทที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

เมื่อระบุได้แล้ว ผู้ป่วยจะถูกทำให้หมดความรู้สึกอีกครั้ง ก่อนที่แพทย์จะทำให้อิเล็กโทรดร้อนขึ้นจนสามารถจี้ทำลายใยประสาทบริเวณนั้นได้

โดยทั่วไป การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุนี้อาจทำให้เกิดอาการชาชั่วคราวบริเวณใบหน้าหลังการรักษา และอาการปวดอาจกลับมาอีกภายใน 3-4 ปีหลังการรักษา

การผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท

จากวิธีรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่า มักเป็นการรักษาที่ให้ผลชั่วคราว หรือระงับความเจ็บปวดได้ แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการชาใบหน้าแทน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกรำคาญได้ แต่ยังมีอีกวิธีที่สามารถระงับความเจ็บปวดที่ต้นเหตุโดยไม่ทำลายเส้นประสาท คือ ผ่าตัดแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท (Microvascular Decompression – MVD)

ทำไมถึงต้องแยกหลอดเลือดออกจากเส้นประสาท?

เนื่องจากสาเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ามักเกิดจากมีเส้นเลือดสมองไปกดเบียดเส้นประสาทใบหน้า ทำให้ใบหน้าไวต่อความรู้สึกขึ้นกว่าปกติ เพียงแค่มีลมเย็นพัดผ่านหรือการลูบจับใบหน้าก็อาจก่อความเจ็บปวดอย่างมากได้ การนำเส้นเลือดนี้ออก ไม่ให้กดทับเส้นประสาทอีก จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าด้วยวิธี MVD ถือเป็นการผ่าตัดแบบรุกรานมาก เมื่อเทียบกับหัตถการเพื่อรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหัตถการอื่นๆ แต่ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดสำหรับป้องกันอาการปวดกลับมาเป็นซ้ำในระยะยาว

การผ่าตัด MVD แพทย์จะกรีดเปิดแผลเล็กๆ ที่ผิวหนังผู้ป่วย ณ ตำแหน่งหลังหูข้างที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด จากนั้นแพทย์จะเจาะรูที่กะโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงเส้นประสาทใบหน้า แล้วจึงทำการผ่าตัดแยกหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก รวมถึงมีการใส่นวมเพื่อคั่นหลอดเลือดกับเส้นประสาทไม่ให้เสียดสีกัน

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือเส้นประสาทยังคงอยู่ ผู้ป่วยจึงหายจากความเจ็บปวดโดยไม่มีอาการชาใบหน้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีนี้หายขาดจากโรค แต่มีบางกรณีเช่นกันที่อาจมีอาการเจ็บปวดเส้นประสาทใบหน้าขึ้นอีกหลังจากผ่าตัดรักษาไปแล้ว 3-5 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง การผ่าตัด MVD นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าวิธีอื่น คือ มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยิน มีภาวะใบหน้าอ่อนแรง ชา มีภาวะหลอดเลือดสมอง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

วิธีอื่นที่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าได้

นอกจากการรักษาหลัก เช่น รับประทานยาหรือผ่าตัด แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีต่อไปนี้ควบคู่กันไปด้วย

  • ฉีดโบท็อกซ์หรือยาระงับความรู้สึกเส้นประสาท เพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราว
  • ฝังเข็ม
  • รับการบำบัดทางจิตใจ
  • ฝึกโยคะ
  • ฝึกสมาธิ
  • บำบัดด้วยกลิ่น

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป วิธีที่ดีที่สุดของผู้ป่วยคนหนึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับอีกคนก็ได้ ก่อนเลือกวิธีรักษาจึงควรแจ้งข้อมูลภาวะสุขภาพของตนเองให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วน รวมถึงสอบถามถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากแพทย์ให้เข้าใจชัดเจน ถ้ามีความกังวลหรือความคาดหวังอะไรเป็นพิเศษก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรักษาเช่นกัน

อยากรู้ว่าอาการที่เป็นอยู่ใช่โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าหรือไม่ ถ้าใช่ ต้องหาหมอที่ไหนดีถึงจะมีบริการรักษาอย่างครบครัน? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top