ปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับสารก่อมะเร็งแทบจะตลอดเวลา ทำให้โรคมะเร็งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นโดยที่หลายคนอาจไม่ทราบเลย ทั้งความเสี่ยงที่ส่งต่อทางพันธุกรรม มลพิษ และอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในทุกวัน
บทความนี้จะชวนทุกคนมารู้จักกับสารก่อมะเร็งใกล้ตัวที่เรามักเจอในชีวิตประจำวัน พร้อมวิธีหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งที่ทำเองได้ง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง และสุขภาพที่ดีมากขึ้น
สารบัญ
สารก่อมะเร็ง คืออะไร
สารก่อมะเร็ง (Carcinogens) คือ สาร รังสี หรือสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ปกติกลายสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง
ทั้งนี้ สารก่อมะเร็งพบได้ในหลายรูปแบบ เช่น มลพิษ รังสี สารเคมีในอาหาร สารต่าง ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเราอาจได้รับโดยไม่คาดคิดจากการสัมผัส สูดดม หรือรับประทานเป็นเวลานาน
การได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ไม่ได้ทำให้เป็นโรคมะเร็งในทันที แต่ต้องมีการสะสมเป็นเวลานาน หรือได้รับในปริมาณมาก รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ เกี่ยวข้องด้วยถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นได้ โดยเฉพาะพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
หน่วยงานขององค์การอนามัยโลกชื่อว่า องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้จัดกลุ่มของสารก่อมะเร็งเป็น 4 กลุ่ม โดยพิจารณาจากข้อมูลการระบาดในมนุษย์ หลักฐานในสัตว์ทดลอง และกลไกการออกฤทธิ์ของสารนั้น
- กลุ่มที่ 1 เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (122 สาร)
- กลุ่มที่ 2A อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (93 สาร)
- กลุ่มที่ 2B มีความเป็นไปได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (319 สาร)
- กลุ่มที่ 3 ไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (501 สาร)
ตัวอย่างสารก่อมะเร็งที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน
รอบตัวเรามีสารก่อมะเร็งอยู่กว่า 100 ชนิด ทำให้หลายคนอาจได้รับสารเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว โดยสารก่อมะเร็งในชีวิตประจำวันที่พบได้บ่อย เช่น
สารก่อมะเร็งในอาหาร
อาหารที่เรารับประทานก็สามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ โดยเฉพาะอาหารที่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เช่น
- เนื้อสัตว์แปรรูป: เนื้อสัตว์ที่มีการแปรรูปด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบคอน ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง และแฮม มักมีสารไนเตรต–สารไนไตรต์ (Nitrate–Nitrite) ที่เปลี่ยนไปเป็นสารไนโตรซามีน (Nitrosamines) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งกระเพาะอาหาร
- เนื้อแดง: การบริโภคเนื้อสัตว์ในกลุ่มจำพวกเนื้อแดงในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้ว่าหลักฐานจะยังไม่แน่ชัดเท่ากับเนื้อแปรรูป
- เนื้อสัตว์ดิบ: เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุกมักมีพยาธิตัวอ่อนหรือไข่พยาธิอยู่ หากรับประทานเข้าไปจะเสี่ยงต่อมะเร็งท่อน้ำดี
- อาหารแห้ง: เช่น ถั่วป่น กระเทียม พริกแห้ง หอมแดง ขนมปัง หากเก็บไว้นานเกินไปจะเกิดสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่เป็นสารพิษจากเชื้อรา เมื่อรับประทานเข้าไปเป็นระยะเวลานานจะเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
- อาหารปิ้งย่าง: เนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารด้วยวิธีปิ้ง ย่าง เผา หรือรมควัน จะต้องใช้ความร้อนสูง ทำให้เกิดสารเบนโซ (เอ) ไพรีน (Benzo [a] pyrene) ขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปจะเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี
สารก่อมะเร็งในอากาศและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่ไม่มีมาตรการป้องกันมลพิษที่ดีพอ อาจทำให้สารเคมีรั่วไปในอากาศหรือทางน้ำได้โดยไม่ตั้งใจ
สารเคมีที่หลุดรอดออกมาจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมบางชนิด เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้หากสะสมเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะ
- เบนซีน (Benzene): เป็นสารเคมีที่พบในน้ำมันเบนซินและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบางชนิด การได้สูดดมเบนซีนในระยะยาวสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde): เป็นสารที่ใช้ในการถนอมศพและผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น กาวและวัสดุก่อสร้าง การสัมผัสฟอร์มาลดีไฮด์ในระดับสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ
- มลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเกิดจากยานพาหนะ การเผาไหม้เชื้อเพลิง การก่อสร้าง หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ล้วนมีสารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน
สารก่อมะเร็งที่เกิดจากพฤติกรรมและปัจจัยส่วนบุคคล
พฤติกรรมส่วนบุคคลที่ใครหลายคนอาจมองว่าทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร แต่จริง ๆ แล้วก็อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วย เช่น
- การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด โดยมีอย่างน้อย 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีนและไนโตรซามีน การสูบบุหรี่ หรือแม้แต่การได้รับควันบุหรี่มือ 2 เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอด และยังเกี่ยวข้องกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด
- การดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งที่รู้จักกันดี การดื่มปริมาณมากและต่อเนื่องจะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งในช่องปาก
- การสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) การได้รับแสงแดดมากเกินไป รวมถึงแสงสังเคราะห์ที่คนเราสร้างขึ้น อย่างเตียงอบผิวหรือตู้อบฆ่าเชื้อ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะมะเร็งเมลาโนมา
สารก่อมะเร็งที่เกิดจากไวรัสบางชนิด
เมื่อคนเราได้รับเชื้อไวรัสบางชนิดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ยังอาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาว และก่อนตัวเป็นโรคมะเร็งได้ อาทิ
- ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้นเหตุให้ตับอักเสบขึ้น หากตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งตับในอนาคต
- ไวรัสเอชพีวี (HPV) เป็นเชื้อที่ไม่ได้พบแต่เพียงในผู้หญิง แต่ก็อาจพบในผู้ชายได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วไวรัสชนิดนี้มักทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย และมะเร็งทวารหนัก
แม้สารก่อมะเร็งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดมะเร็งเหมือนกัน แต่ความรุนแรงหรือโอกาสการเกิดโรคมะเร็งในแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน เพราะการเกิดโรคมะเร็งนั้นมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น การอักเสบเรื้อรัง หรือเงื่อนไขสุขภาพบางอย่างด้วย
รวมวิธีการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งในชีวิตประจำวัน
การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและเลี่ยงสารก่อมะเร็งเท่าที่ทำได้ล้วนมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งชนิดต่าง ๆ ลงได้ เบื้องต้นสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควรลดการบริโภคเนื้อแปรรูปและเนื้อแดงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หรือเลือกโปรตีนจากพืชหรือปลาแทน เสริมผัก ผลไม้ และอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง โดยเฉพาะการย่างหรือทอดที่อุณหภูมิสูง สามารถสร้างสารก่อมะเร็งขึ้น
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมีอันตราย หากทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีสารเคมี ควรใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคลและปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย
- เลิกสูบบุหรี่จะลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้อย่างมาก และควรเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ด้วย
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม หรือหลีกเลี่ยงหากเป็นไปได้
- ควรป้องกันแสงแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง โดยใช้ครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ช่วยป้องกันแสงยูวี
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้รู้ถึงสุขภาพโดยรวม หากพบความผิดปกติจะได้ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจเลี่ยงสารก่อมะเร็งหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ทั้งหมด แต่ก็ใช่ว่าจะนำความกังวลเรื่องความเสี่ยงโรคมะเร็งมาทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันผิดเพี้ยนไป หรือทำให้เครียดมากจนเกินพอดี
ทางที่ดีที่สุด คือ ควรดูแลสุขภาพแต่พอดี ไม่เครียด และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้โรคมะเร็งมาจู่โจมเราโดยไม่รู้ตัว
คนที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นกังวล สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเพิ่มเติมได้ เพราะปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งหลายชนิดมีความแม่นยำ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากคุณกำลังมองหาแพ็กเกจการตรวจคัดกรองมะเร็ง HDmal.co.th มีแพ็กเกจที่เหมาะสมสำหรับคุณ คลิกดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็ง เพื่อให้คุณได้รู้เท่าทัน และป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที