ลูกผอมเกินไป น้ำหนักตัวน้อย อาจเป็นปัญหาที่หลายครอบครัวมองข้ามไป เพราะคิดว่าอาจไม่มีผลเสียเท่าเด็กน้ำหนักตัวมาก แท้จริงแล้ว น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์สามารถกระทบต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาวได้ไม่แพ้กัน
แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ สังเกตจากอะไรดี สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง วิธีเพิ่มน้ำหนักตัวลูกทำเองได้ไหม เมื่อไรควรพาลูกไปตรวจดูพัฒนาการของเด็ก บทความนี้มีคำตอบมาฝาก
สารบัญ
สาเหตุที่ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
ภาวะเด็กผอมและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ในเด็กเกิดได้จากหลายปัจจัย สาเหตุพบบ่อยที่ทำให้เด็กมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ได้แก่
การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
การรับประทานอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ปริมาณอาหารน้อยไป หรือคุณค่าทางโภชนาการน้อย ทำให้ลูกน้ำหนักน้อย ซึ่งเกิดได้จากตัวเด็กเอง ความไม่รู้ของพ่อแม่ หรือตามใจเด็ก ทำให้เด็กรับประทานขนมมากกว่าอาหารจานหลัก โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร
อาการเจ็บป่วยของร่างกาย
เด็กอาจมีโรคเรื้อรัง ความพิการแต่กำเนิด หรือปัญหาสุขภาพ ทำให้การเจริญเติบโตช้า เช่น คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร โรคภูมิคุ้มกัน ความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม การดูดซึมสารอาหารผิดปกติ โรคหรือภาวะที่ร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติ
การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนดึก
การพักผ่อนไม่เพียงพอสามารถส่งผลต่อน้ำหนักตัวเด็กในช่วงแรก ๆ นาน ๆ ไป นอกจากน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว ยังกระทบต่อความสูงของเด็กด้วย
ความเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง
ครอบครัวบางส่วนเข้าใจว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง หากเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน เลยถูกมองว่าเด็กมีน้ำหนักน้อย ผอมเกินไป
ปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์
สภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพทางจิตใจอื่น ๆ อาจส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยได้เช่นกัน
การเลี้ยงดูและลักษณะนิสัยของการรับประทาน
บางครอบครัวอยากให้ลูกรับประทานได้เยอะ เลยพยายามป้อนข้าวลูกตั้งแต่เล็กจนเด็กโต พอถึงช่วงวัยที่เด็กปฏิเสธเป็น อาจทำให้เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร
ผลจากลูกน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
น้ำหนักตัวน้อยหรือต่ำกว่าเกณฑ์เป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อของเด็กในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการตามวัย สุขภาพร่างกายโดยรวม และสุขภาพทางใจ เช่น
- การเจริญเติบโตล่าช้าด้านร่างกายและการพัฒนาทางสมอง กระทบไปถึงการเรียนรู้ และการเข้าสังคมในระยะยาว
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และอาจยังมีปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น ความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม หรือปัญหาด้านโภชนาการ
- กระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเด็ก เช่น ไม่มั่นใจในตนเอง
รู้ได้อย่างไรว่าน้ำหนักตัวลูกน้อย น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
การประเมินภาวะการเจริญเติบโตของเด็กเล็กถึงวัยเรียน หลัก ๆ มีอยู่ 3 ดัชนี คือ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ (Weight for age) ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ (Height for age) น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (Weight for height)
ดัชนีแต่ละตัวจะมีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน ทำให้มีการใช้มากกว่า 1 ดัชนี ส่วนมากจะนิยมใช้น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ และส่วนสูงตามเกณฑ์อายุควบคู่กัน หรือเรียกว่า สูงดีสมส่วน ซึ่งคุณหมอจะประเมินด้วยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง แล้วนำไปเทียบจากกราฟแสดงการเติบโต
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถเทียบน้ำหนักและส่วนสูงมาตรฐานสำหรับเด็กไทย ทั้งชายและหญิงตามตารางด้านล่าง
อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวตามอายุโดยประมาณ
อายุ | น้ำหนักตัว |
ทารกแรกเกิด | 2.7–3 กิโลกรัม |
อายุ 4–5 เดือน | น้ำหนักเพิ่ม 2 เท่าจากแรกเกิด หรือ 4–5 กิโลกรัม |
อายุ 1 ปี | น้ำหนักเพิ่ม 3 เท่าจากแรกเกิด หรือ 9 กิโลกรัม |
อายุ 2 ปี | น้ำหนักเพิ่ม 4 เท่าจากแรกเกิด หรือ 12 กิโลกรัม |
อายุ 2–5 ปี | น้ำหนักเพิ่ม 2.3–2.5 กิโลกรัมต่อปี |
อายุ 6–12 ปี | น้ำหนักเพิ่ม 3–3.5 กิโลกรัมต่อปี |
อัตราการเพิ่มของส่วนสูงตามอายุโดยประมาณ
อายุ | ส่วนสูง |
ทารกแรกเกิด | 50 เซนติเมตร |
อายุ 6 เดือน | ส่วนสูงเพิ่ม 2.5 เซนติเมตรต่อเดือน หรือ 65 เซนติเมตร |
อายุ 6–12 เดือน | ส่วนสูงเพิ่ม 1 เซนติเมตรต่อเดือน หรือ 75 เซนติเมตร |
อายุ 1–7 ปี | ส่วนสูงเพิ่ม 7.5 เซนติเมตรต่อปี หรือ 125 เซนติเมตร |
อายุ 8–15 ปี | ส่วนสูงเพิ่ม 5 เซนติเมตรต่อปี หรือ 165 เซนติเมตร |
นอกจากนี้ พ่อคุณแม่สามารถคำนวณน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กคร่าว ๆ เองว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ดังนี้
สูตรคำนวณน้ำหนักเด็กตามอายุ (2–12 ปี)
- อายุ 3–12 เดือน (อายุ (เดือน) x 2) + 9 ÷ 2 = น้ำหนัก (กิโลกรัม)
- อายุ 1–6 ปี (อายุ (ปี) x 2) + 8 = น้ำหนัก (กิโลกรัม)
- อายุ 7–12 ปี (อายุ (ปี) x 7) – 5 ÷ 2 = น้ำหนัก (กิโลกรัม)
สูตรคำนวณส่วนสูงเด็กตามอายุ (2–12 ปี)
- ความสูง (เซนติเมตร) = (6 x อายุ (ปี)) + 77
ทั้งนี้ เกณฑ์ข้างต้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ย เด็กแต่ละคนจะมีการเติบโตต่างกันไปตามพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม คุณพ่อคุณแม่ควรลองสังเกตเพิ่มเติมว่าลูกมีการเปลี่ยนแปลงไซส์เสื้อผ้าไปตามอายุด้วยหรือไม่ หรือรูปร่างของลูกผอมมากน้อยแค่ไหน
หากลูกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือกังวลเรื่องน้ำหนักตัวลูก แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม จะช่วยคำนวณได้ชัดเจน และติดตามพัฒนาการของลูกในระยาวได้
เมื่อลูกน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ พ่อแม่ดูแลอย่างไร
คำแนะนำช่วยให้เด็กเพิ่มน้ำหนักในเบื้องต้น
ให้ลูกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่
เด็กโตในช่วงอายุ 6–12 ปี ควรได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่ละมื้ออาหาร ควรประกอบด้วยสารอาหารต่อไปนี้
- ข้าว มื้อละ 1–2 ทัพพี
- เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือเป็นไข่ 1 ฟอง หรือปลาไขมันสูง เช่น ปลาอินทรี ปลาดุก และปลาสวาย เลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป
- ผัก 1 ทัพพี ควรเลือกผักที่มีแป้งมากและให้พลังงานสูง สลับกับผักใบเขียว
- ผลไม้สด เช่น ส้ม 1 ผล หรือกล้วย 1 ผล หรือมะละกอ 4–5 ชิ้นคำ หรืออโวคาโดครึ่งลูก หรือองุ่น 5-6 ผล พยายามเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด ผลไม้แปรรูป หรือเติมน้ำตาลเยอะ
- นมจืด 1–3 แก้ว แล้วแต่วัย
- น้ำมันหรือไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก ควรเพิ่มในมื้ออาหาร ประมาณ 1–2 ช้อนชาต่อมื้อ
แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ
หากลูกรับประทานได้น้อยในแต่ละมื้อ อาจลองแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเด็ก เพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์
ขณะเดียวกันควรสังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่ลูกชอบ ปรับเปลี่ยนลักษณะเมนูอาหารให้แตกต่าง ไม่ควรทำเมนูซ้ำบ่อย ๆ เด็กอาจเบื่อจนไม่ยอมรับประทานอาหาร
ไม่ให้นมหรือขนมขบเคี้ยวมากเกินไปก่อนมื้ออาหาร
เมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรลดการให้นมลูกลง เหลือวันละ 3–4 มื้อ ให้รับประทานข้าวเป็นมื้อหลัก ส่วนนมจะให้เป็นอาหารเสริมหลังอาหารแทน รวมถึงงดอาหาร ลูกอม และขนมจุบจิบต่าง ๆ ใกล้มื้ออาหาร เพื่อให้เด็กรู้สึกหิว และรับประทานอาหารได้มากขึ้น
สร้างพฤติกรรมการรับประทานอาหารใหม่
หากลูกอยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่นมากควรฝึกให้รับประทานอาหารเป็นเวลา คุณพ่อคุณแม่เองสามารถบรรยากาศการรับประทานอาหารให้เด็กได้ด้วยการรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน หรือให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมหรือทำอาหารมากขึ้น
นอกจากนี้ ไม่ใช้ควรตี ดุด่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูก ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น เพื่อให้เด็กรับประทานมากขึ้น และไม่ควรให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่น ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สนใจอาหาร รับประทานช้า อมข้าว และอิ่มเร็วโดยยังรับประทานได้น้อย
ให้ลูกเข้านอนเร็ว
การนอนดึกจะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่ได้เต็มที่ และช่วงเวลา 22.00–02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) มากที่สุด ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก จึงควรให้ลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่เกินสามทุ่ม และควรได้นอนหลับวันละ 8–10 ชั่วโมง
หากิจกรรมเสริม
บางครั้งการพาลูกไปออกกำลังกาย วิ่งเล่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เน้นใช้พลังงานมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูกและความอยากอาหาร ทำให้เด็กรู้สึกหิว และอยากรับประทานอาหารมากขึ้น
ปรึกษาคุณหมอ
บางครั้งที่ลูกรับประทานอาการได้น้อยอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน การพบคุณหมอจะช่วยหาสาเหตุที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด พร้อมรับคำแนะนำที่เหมาะกับเด็กแต่ละคนมากที่สุดด้วย
เช่น ลูกรับประทานได้น้อยอาจเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารบางตัว ทำให้เด็กมีอาการเบื่ออาหาร คุณหมออาจให้ยาบำรุงที่ช่วยให้เด็กได้รับวิตามินและเกลือแร่ที่ขาดไป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเบื่ออาหารของลูกได้
ลูกเติบโตสมส่วน สมวัยไหมนะ ไม่ต้องนั่งสงสัย ปรึกษาคุณหมอสำหรับเด็กชัวร์กว่า HDmall.co.th รวมแพ็กเกจตรวจประเมินพัฒนาการเด็กทุกช่วงวัย ราคาพิเศษ คลิกจองก่อนหมดโปรนะ!