ปอดเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยให้เราหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปอดเกิดปัญหา แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลรุนแรงต่อระบบการหายใจและสุขภาพโดยรวมได้
โรคปอดนั้นมีหลากหลายประเภท และบางโรคสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการผ่าตัดที่ทันสมัย เช่น การผ่าตัดส่องกล้องผ่านแผลเล็ก บทความนี้จะพาไปรู้จักกับโรคปอดที่พบบ่อย อาการ สาเหตุ และแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
สารบัญ
โรคปอดคืออะไร?
โรคปอด คือกลุ่มของภาวะหรือโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของปอด ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย โดยโรคปอดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ การสะสมสารพิษ หรือความผิดปกติของเซลล์ปอดเอง
โรคปอดมีอะไรบ้าง?
โรคปอดมีหลายประเภท ตั้งแต่โรคเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ไปจนถึงโรครุนแรง เช่น มะเร็งปอด หรือโรคปอดที่ต้องได้รับการผ่าตัดรักษา
ทั้งนี้โรคเกี่ยวกับปอดที่พบได้บ่อย มีดังนี้
โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer)
โรคมะเร็งปอด คือภาวะที่เซลล์ภายในปอดเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย สามารถเกิดได้ทั้งที่เนื้อเยื่อภายในถุงลม หรือที่หลอดลม ซึ่งสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้
- อาการเบื้องต้น: ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะหรือเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กลุ่มเสี่ยง: ผู้สูบบุหรี่ ผู้ได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น แร่ใยหิน ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
โรคเนื้องอกในปอด (Lung Tumor)
เนื้องอกในปอดสามารถเป็นได้ทั้งชนิดไม่ร้ายแรง (Benign) และร้ายแรง (Malignant) บางชนิดตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ปอด
- อาการเบื้องต้น: ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่หากเนื้องอกโตขึ้น อาจมีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ
- กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เคยได้รับรังสี
โรคลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax)
เป็นภาวะที่มีอากาศรั่วออกจากปอดเข้าสู่เยื่อหุ้มปอด ทำให้ปอดแฟบลงบางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้เกิดอาการหายใจลำบากทันที มักเกิดแบบเฉียบพลัน
- อาการเบื้องต้น: เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มปอด
- กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่มีรูปร่างผอมสูง มักมีโครงสร้างปอดที่ยืดยาวและบาง ทำให้มีโอกาสเกิดถุงลมเล็กๆ บนผิวปอด ซึ่งอาจแตกและทำให้อากาศรั่วออกมาได้โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน นอกจากนี้ยังพบในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคถุงลมโป่งพอง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น กระแทกหน้าอก
โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
เป็นภาวะที่ถุงลมในปอดเกิดการทำลาย ทำให้อากาศค้างในถุงลม หายใจเข้าออกได้ไม่เต็มที่ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรค COPD หรือ “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงอย่างถาวร ส่งผลให้การหายใจติดขัดเรื้อรังและไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ทั้งหมด
- อาการเบื้องต้น: หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาทำกิจกรรม ไอเรื้อรัง
- กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาว
โรคเยื่อหุ้มปอดหนา (Pleural Thickening) และเยื่อหุ้มปอดติด (Pleural Adhesion)
ภาวะเยื่อหุ้มปอดหนาและพังผืดติดกันนี้มักเกิดขึ้นหลังจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เช่น ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มปอด วัณโรคปอด หรือการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งเมื่อเยื่อหุ้มปอดหายจากอาการอักเสบ อาจทิ้งร่องรอยเป็นพังผืด ทำให้เยื่อหุ้มปอดเสียความยืดหยุ่น และยึดติดกับผนังทรวงอกหรือปอด ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่
ในกรณีที่พังผืดมีจำนวนมาก หรือหนาจนรบกวนการขยายตัวของปอด อาจทำให้เกิดภาวะ “ปอดถูกดึงรั้ง” หรือ Trapped Lung ซึ่งจะส่งผลให้หายใจลำบากมากขึ้น
- อาการเบื้องต้น: หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อาจมีอาการไอร่วมด้วย
- กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่เคยเป็นวัณโรคปอด หรือเคยมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด
โรคปอดมีหลากหลายชนิดและระดับความรุนแรง ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ถุงลมโป่งพอง ไปจนถึงมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคร้ายแรง หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงชีวิตได้
ในปัจจุบัน การรักษาโรคปอดต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมานี้ สามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Video-Assisted Thoracoscopic Surgery (VATS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดทรวงอกแบบส่องกล้องผ่านแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องเปิดปอดกว้างเหมือนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดภาวะแทรกซ้อนได้ดี และมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
อาการผิดปกติที่เป็นอยู่ ใช่โรคปอดหรือเปล่า? ต้องผ่าตัดไหม? อยากปรึกษาคุณหมอ ตรวจให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย