Default fallback image

เจาะลึกวิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์

วิธีรักษาโรคต้อกระจก ที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียวนั่นคือ วิธีผ่าตัด โดยเทคนิคการผ่าตัดต้อกระจกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ ซึ่งมีข้อดีคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ไม่ต้องเย็บแผล เจ็บน้อย แถมยังแก้ปัญหาค่าสายตาได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย

มาเจาะลึกพร้อมกันเกี่ยวกับข้อมูลที่ควรรู้ของการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ ทั้งนิยาม ขั้นตอน ข้อดี ข้อจำกัด รวมถึงการเตรียมตัว และการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น

การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์คืออะไร?

การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Phacoemulsification) หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า “การผ่าตัดรักษาต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง” เป็นเทคนิคการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต้อกระจกด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นมัว ก่อนจะดูดออกมา และแทนที่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ซึ่งเป็นชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถแก้ไขค่าสายตาได้มากสุดถึง 3 ระยะ รวมถึงปัญหาสายตาเอียง

ขั้นตอนการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์มีกระบวนการหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • แพทย์และผู้ป่วยเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับค่าสายตาและวิถีชีวิต 
  • แพทย์หยอดยาขยายม่านตาให้ผู้ป่วย ตามด้วยทำความสะอาดผิวดวงตาให้ผู้ป่วย
  • แพทย์หยอดยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึกผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถนอนอยู่นิ่งๆ บนเตียงผ่าตัดได้ มีอาการตื่นกลัวมาก กลัวความมืด หรือมีเงื่อนไขสุขภาพอื่นๆ ที่ไม่สามารถให้ยาชาแบบหยอดได้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาชาแบบฉีดหรือการวางยาสลบแทน
  • แพทย์เจาะเปิดรูแผลขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตรที่ขอบตาดำตรงกระจกตา เปิดถุงหุ้มเลนส์ในลักษณะวงกลม แล้วสอดอุปกรณ์ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาธรรมชาติที่ขุ่นเป็นต้อกระจกจนกลายเป็นเศษชิ้นเล็กๆ 
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์ดูดเศษเลนส์ตาธรรมชาติออกมา 
  • แพทย์ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปในถุงหุ้มเลนส์แทน โดยเลนส์แก้วตาเทียมจะกางออกเมื่อเข้าไปอยู่ในถุงหุ้มเลนส์แล้ว
  • หากการผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลแต่อย่างใด

ข้อดีของการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์

  • เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กกว่าแผลผ่าตัดแบบดั้งเดิม จึงเจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวไม่นาน 
  • ไม่ต้องเย็บแผล ซึ่งก็ช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาสายตาเอียง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการเย็บแผลผ่าตัด
  • เลนส์แก้วตาเทียมซึ่งใช้ในการผ่าตัดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์มีอยู่หลายชนิด สามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้อย่างครอบคลุม ขึ้นอยู่กับการเลือกชนิดของเลนส์ของแพทย์และผู้ป่วย
  • มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า

ข้อจำกัดของการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบดั้งเดิม 
  • หากผู้ป่วยเป็นโรคต้อกระจกในระยะที่ต้อสุกมากๆ หรือเนื้อต้อแข็งมากแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดแบบดั้งเดิมหรือผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่แทน เนื่องจากเป็นระยะของโรคที่คลื่นอัลตราซาวด์ไม่สามารถสลายเลนส์แก้วตาธรรมชาติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การเตรียมตัวก่อนสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์

  • ผู้ป่วยแจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว รวมถึงยาประจำตัวทุกชนิด วิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า 
  • งดยาบางชนิดก่อนรับการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยต้องตรวจตาอย่างละเอียดเสียก่อน เพื่อตรวจสอบความพร้อมของสุขภาพตาก่อนผ่าตัด 
  • เลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับปัญหาค่าสายตา วิถีชีวิต รวมถึงงบประมาณที่มี โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการเลือกชนิดของเลนส์
  • อาบน้ำสระผมมาก่อนผ่าตัด 
  • งดแต่งหน้า งดทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว งดใส่ขนตาปลอม งดทาเล็บ รวมถึงงดติดเล็บปลอมมาในวันผ่าตัด
  • ระมัดระวังอย่าให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตา รวมถึงอย่าให้มีอาการป่วยจนเกิดอาการไอหรือจาม เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบในระหว่างการผ่าตัดได้
  • พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยต้องปิดตาไว้ก่อนหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น

การดูแลตนเองหลังสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์

  • แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมงหลังผ่าตัด หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • แพทย์จะปิดตาผู้ป่วยไว้สักระยะ อาจอยู่ที่ 4-6 ชั่วโมงหรือข้ามคืนขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ ห้ามผู้ป่วยถอดอุปกรณ์ปิดตาออกเองก่อนที่จะแพทย์จะอนุญาต โดยแพทย์มักนัดผู้ป่วยมาเปิดตาในวันรุ่งขึ้น
  • ทำแผล รวมทั้งล้างที่ครอบตาให้สะอาดและซับให้แห้งทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หมั่นพักสายตาเป็นระยะๆ อย่าใช้สายตาเพ่งมองเป็นเวลานานๆ 
  • หลีกเลี่ยงการไอและจาม เนื่องจากทำให้แผลกระทบกระเทือน หากจำเป็นต้องไอหรือจาม ให้อ้าปากเพื่อให้ลมออกจากปากด้วย
  • ห้ามขยี้ตาเพื่อป้องกันแผลผ่าตัดฉีกขาด
  • งดยกของหนัก งดก้มศีรษะนานๆ 5-7 วันหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดแรงดันที่แผล
  • งดให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • งดนอนตะแคงคับดวงตาข้างที่ผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีสิ่งสกปรกเข้าตา เช่น การปัดฝุ่นเช็ดถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ ทำสวน เล่นกับสัตว์เลี้ยง การอยู่ที่ที่มีฝุ่นควันหรือมลภาวะ มีลมแรง
  • ใส่ที่ครอบตาระหว่างนอนหลับ 1 เดือน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
  • ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถึงใส่แว่นตากันฝุ่นหรือกันน้ำ แต่ให้ระวังอย่าให้สิ่งสกปรก ฝุ่นควัน หรือน้ำเข้าตาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด และใส่แว่นกันแดดเมื่อออกไปในที่โล่งแจ้ง
  • หากต้องการล้างหน้า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้าปกติจนกว่าแพทย์จะอนุญาต เพื่อป้องกันน้ำกระเด็นเข้าแผล
  • หากต้องการสระผม ให้ไปสระผมที่ร้านแทน หรือนอนสระอย่างระมัดระวัง
  • ใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่ายยาให้อย่างเคร่งครัด เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ 
  • เดินทางกลับมาตรวจแผลผ่าตัดกับแพทย์ตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์จะนัด 1 วันหลังผ่าตัด ตามด้วย 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด 1 เดือนหลังผ่าตัด และ 3 เดือนหลังผ่าตัด

อย่าปล่อยให้โรคต้อกระจกกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คุณภาพการมองเห็นแย่ลง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ยังทำให้สายตาสั้นเร็วขึ้น มองเห็นสีก็ผิดเพี้ยนไปจากปกติ แถมถ้าประวิงเวลาไม่รีบรักษา ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคต้อหิน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

หากเริ่มรู้สึกว่า มองเห็นไม่ชัด เห็นหมอกมัวๆ อยากตรวจให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต้อกระจก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top