Default fallback image

ปวดเข่า อาจไม่ใช่สัญญาณเข่าเสื่อมเสมอไป เป็นโรคอะไรได้บ้าง

เมื่อพูดถึงอาการ “ปวดเข่า” หลายคนก็มักนึกถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บ หรือปัญหาข้อเข่าเสื่อม ก่อนเป็นอันดับต้นๆ แต่ความจริงแล้ว ยังมีภาวะและความผิดปกติอื่นๆ ที่สามาถก่อให้เกิดอาการปวดเข่าได้อีกเช่นกัน มาทำความรู้จักโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่า สาเหตุ อาการ เพื่อจะได้ประเมินอาการตัวเองเบื้องต้น และไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างตรงจุด โรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดเข่าจะมีอะไรบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้

สารบัญ

1. ภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

ภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Anterior Cruciate Ligament Injury) เป็นภาวะการฉีกขาดที่ “เส้นเอ็นไขว้หน้า” ซึ่งเป็นเส้นเอ็นที่อยู่ตรงส่วนกลางของข้อเข่า ยึดระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ทำหน้าที่ควบคุมให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่มีการบิดหมุนของข้อเข่าเกิดขึ้น

ภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้บ่อยในกลุ่มนักกีฬา โดยเฉพาะกีฬาประเภทที่ต้องมีการปะทะ มีการกระโดดขึ้นลงบ่อย หรือมีการเคลื่อนไหวในลักษณะบิดหมุนตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล แบดมินตัน เป็นต้น

สาเหตุของภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

  • เข่าหมุนเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเกิดแรงบิดหมุน หรือแรงกระชากจนฉีกขาด
  • การหยุดวิ่งหรือหยุดเคลื่อนไหวเข่าอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดแรงกระแทกที่รุนแรงโดยที่ข้อเข่าไม่ได้เตรียมรับก่อนจนทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
  • การกระโดดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ทำให้เส้นเอ็นและข้อเข่าได้รับแรงกระแทกหรือน้ำหนักเพิ่มอย่างฉับพลัน จนได้รับบาดเจ็บหรือฉีกขาด
  • การกระแทกอย่างรุนแรงที่ข้อเข่า อาจเกิดได้จากทั้งการเล่นกีฬาหรือการประสบอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ตกบันได รถล้ม รถชน

อาการของภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

  • เกิดเสียงลั่นในเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด
  • ปวดเข่าอย่างรุนแรง ซึ่งมักจะตามมาหลังเกิดเสียงลั่น ทำให้ไม่สามารถเดินหรือวิ่งต่อได้ 
  • เจ็บเข่า มักมาพร้อมกับอาการปวดเข่า
  • รู้สึกมีบางอย่างขาดออกจากกัน หรือมีบางอย่างดีดอยู่ด้านในเข่า
  • เข่าบวม  เนื่องจากมีเลือดไหลไปรวมอยู่ในเข่า มักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด
  • งอเข่าไม่ได้ 
  • เดินกะเผลก เดินลงน้ำหนักไม่ได้ ต้องอาศัยเครื่องช่วยพยุงเพื่อความมั่นคงในการก้าวเดิน

2. ภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด

ภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด (Miniscus Tear) เป็นภาวะการฉีกขาดของ “หมอนรองกระดูกเข่า” ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกระหว่างกระดูกหน้าแข้ง และกระดูกต้นขาในระหว่างทำท่าอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน วิ่ง กระโดด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอวัยวะที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อย ทำให้เมื่อฉีกขาดหรือบาดเจ็บ ก็จะไม่สามารถซ่อมแซมตนเองได้อย่างเต็มที่นัก จนก่อให้เกิดอาการปวดเข่าและอาการอื่นๆ ตามมา

สาเหตุของภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด

  • การบิดหมุนเข่าผิดท่า
  • อิริยาบถที่ทำให้ข้อเข่าได้รับน้ำหนักหรือแรงกระแทกมาก เช่น การย่อตัว การคุกเข่า หรือนั่งยองๆ การยกของหนักบ่อยๆ
  • ข้อเข่าได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง มักพบได้จากการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล หรือเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากที่สูง รถชน รถล้ม

อาการของภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด

  • ปวดเข่า โดยเฉพาะด้านหน้าเข่าหรือหลังข้อพับ และมักปวดรุนแรงในระหว่างอยู่ในอิริยาบถที่เข่าต้องมีการลงน้ำหนัก เช่น ยืน เดิน กระโดด คุกเข่า นั่งยองๆ
  • เข่าบวม
  • เข่าฝืดและติดขัด ทำให้เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่เต็มที่
  • ข้อเข่าล็อค

3. ภาวะกระดูกข้อเข่าหัก

โดยปกติกระดูกข้อเข่าจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่

  • กระดูกหน้าแข้งส่วนต้น (Tibia) 
  • กระดูกต้นขาส่วนปลาย (Femur) 
  • กระดูกลูกสะบ้า (Patella)

หากกระดูก 3 ส่วนนี้เกิดการหักหรือแตกร้าวก็สามารถก่อให้เกิดอาการปวดเข่าและอาการอื่นๆ ได้ 

สาเหตุของภาวะกระดูกข้อเข่าหัก

กระดูกข้อเข่าหักมักมีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงจนกระดูกข้อเข่าหักหรือแตกร้าว เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากที่สูง เข่าถูกกระแทกหรือถูกชนอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมักเกิดจากการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายในท่าที่เข่าต้องรับน้ำหนักมากเกินไป รวมถึงในท่าที่ไม่ถูกต้อง

ยิ่งในผู้ที่ป็นโรคกระดูกพรุนซึ่งระดับความแข็งแรงของกระดูกจะมีน้อยกว่าคนทั่วไป ก็ยิ่งมีโอกาสกระดูกข้อเข่าหักได้ง่าย

อาการของภาวะกระดูกข้อเข่าหัก

  • เจ็บและปวดเข่าอย่างรุนแรง
  • ใช้งานหัวเข่าไมได้ และจะมีอาการเจ็บที่รุนแรงเมื่อใช้งานเข่า
  • เข่าบวม
  • สีของหัวเข่าเปลี่ยนไป
  • รูปร่างของหัวเข่าเปลี่ยนไป รวมถึงอาจทำให้ช่วงขาสั้นลงหรือเบี้ยวได้
  • เห็นหรือคลำพบกระดูกส่วนที่หักยื่นออกมา

4. ภาวะเอ็นเข่าอักเสบ

ภาวะเอ็นเข่าอักเสบ (Patellar Tendinitis) เป็นภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อที่มีหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกหัวเข่าไว้ด้วยกัน รวมถึงทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อเข่าให้มีความคล่องแคล่ว มักพบได้บ่อยในนักกีฬาที่ต้องใช้งานข้อเข่าอย่างเข้มข้น ผู้ที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมในท่าเดิมซ้ำๆ รวมถึงผู้ที่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กล้ามเนื้อเริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง

สาเหตุของภาวะเอ็นเข่าอักเสบ

  • การใช้หัวเข่าในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน
  • หัวเข่าได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงและอย่างเฉียบพลัน
  • การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องใช้หัวเข่าอย่างหนัก เช่น กระโดดเชือก วิ่ง ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เทนนิส
  • การไม่ยืดหยุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา 
  • การมีภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือเข่าบิดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเอ็นเข่าอักเสบไปด้วย
  • อายุที่มากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เอ็นกล้ามเนื้อมีโอกาสอักเสบได้มากกว่าผู้ที่อายุยังน้อย

อาการของภาวะเอ็นเข่าอักเสบ

  • ปวดเข่า โดยระดับของอาการปวด และบริเวณที่ปวดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของเส้นเอ็นที่อักเสบ
  • เข่าบวมแดง
  • มีเสียงดังภายในเข่า โดยเฉพาะในระหว่างที่ขยับข้อเข่า
  • ไม่สามารถเดินหรือลงน้ำหนักได้เต็มที่ เมื่อเดินแล้วอาจมีอาการเข่าทรุด
  • งอและเหยียดเข่าลำบาก
  • ขึ้นลงบันไดลำบาก

5. ภาวะถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ

ถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ (Pes anserine bursitis) คือ ภาวะอักเสบที่ถุงน้ำซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้งและเส้นเอ็นกล้ามเนื้อขา ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกและแรงเสียดสีระหว่างใช้งานหัวเข่า

สาเหตุของภาวะถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ

ภาวะถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบเกิดจากแรงเสียดสีระหว่างถุงน้ำกับโครงสร้างของกระดูกข้อเข่าบริเวณรอบๆ ที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดการอักเสบ โดยมักเกิดจากปัจจัยดังนี้

  • การใช้งานหัวเข่ามากเกินไป และเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
  • การประสบอุบัติเหตุหรือการได้รับแรงกระแทกบริเวณถุงน้ำเข่าด้านใน
  • การมีภาวะข้อเข่าเสื่อม ภาวะข้อเข่าบิดเข้าด้านใน ภาวะอ้วน ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ถุงน้ำได้รับแรงเสียดสีและต้องรับน้ำหนักเข่ามากกว่าปกติ จนทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
  • การไม่ยืดกล้ามเนื้อให้เหมาะสมก่อนออกกำลังกาย

อาการของภาวะถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ

  • อาการปวดเข่า โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่าด้านใน และจะปวดมากยิ่งขึ้นในระหว่างที่งอเข่า เหยียดเข่า เปลี่ยนท่านั่งเป็นยืน เคลื่อนไหวใช้งานเข่า หรือขึ้นลงบันได
  • มีอาการผิวแดงและร้อนบริเวณข้อเข่าด้านใน
  • มีจุดกดเจ็บบริเวณใต้ข้อเข่าด้านใน
  • มีกำลังกล้ามเนื้อลดลง องศาการใช้งานเข่ามีจำกัดมากขึ้น
  • ในบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

6. ภาวะกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ

ภาวะกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคผิวกระดูกอ่อนลูกสะบ้าเข่าอักเสบ (Patella Chondromalacia หรือ Runner’s knee)” เป็นอาการอักเสบหรือการเสื่อมตัวของกระดูกอ่อนที่อยู่ใต้กระดูกสะบ้าซึ่งเป็นกระดูกชิ้นเล็กทรงกลมที่อยู่ด้านหน้าของหัวเข่า จัดเป็นอาการอักเสบที่พบได้บ่อยในกลุ่มนักวิ่ง นักปีนเขา

สาเหตุของโรคกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ

  • การทำกิจกรรม การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายที่สร้างแรงกดในระดับที่มากเกินต่อกระดูกสะบ้า
  • กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าและต้นขามีการทำงานที่ไม่สมดุล
  • ความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางและกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนล่าง
  • โครงสร้างของกระดูกสะบ้าที่ไม่มั่นคง หรือมีการวางตัว หรือหลุดไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
  • การบาดเจ็บของกระดูกสะบ้า
  • การคุกเข่าหรือนั่งยองๆ เป็นระยะเวลานาน
  • ภาวะเท้าแบน
  • เพศ โดยภาวะนี้จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโครงสร้างของมวลกล้ามเนื้อที่น้อยกว่า

อาการของโรคกระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ

  • ปวดเข่า โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในอิริยาบถที่เข่าต้องรับน้ำหนัก เช่น ยืน เดิน วิ่ง ขึ้นลงบันได นั่งยองๆ
  • ได้ยินเสียงดังมาจากข้างในเข่า โดยเฉพาะระหว่างเดิน วิ่ง หรือขึ้นลงบันได
  • อาจมีอาการบวมแดงได้บ้าง แต่ไม่ใช่อาการที่เด่นชัดในผู้ป่วยทุกราย

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า สาเหตุหลักของความผิดปกติของข้อเข่ามักมาจาก การใช้งานหัวเข่าในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมหรือหนักจนเกินไป 

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องเผชิญกับอาการปวดเข่า รวมถึงอาการอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น ก่อนที่จะทำกิจกรรม เล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำท่าอิริยาบถใดๆ ระมัดระวังไม่ให้ข้อเข่าต้องรับภาระหนักเกินไป

หรือหากมีอาการปวดเข่าเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังหาสาเหตุของอาการไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อถนอมและรักษาข้อเข่าให้ยังคงแข็งแรง ไม่เสื่อมหรือสึกหรอก่อนวัย

ปวดเข่าแบบนี้ เพราะกระดูกเข่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top