chronic back pain screening process scaled

ปวดหลังเรื้อรัง ต้องรีบตรวจ ขั้นตอนการตรวจมีอะไรบ้าง?

อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลัง จะช่วยให้รักษาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจขั้นตอนการตรวจที่สำคัญ รวมถึงความแตกต่างระหว่างวิธีต่างๆ เช่น การตรวจร่างกาย การถ่ายภาพ X-ray, CT Scan และ MRI

อาการปวดหลังเรื้อรังแบบไหนที่ต้องรีบตรวจ?

ผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังควรสังเกตลักษณะของอาการของตัวเอง หากมีอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง

  1. อาการปวดร้าว มีอาการปวดที่แผ่ขยายลงไปที่แขน ขา หรือฝ่าเท้า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาเส้นประสาท
  2. ชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชา เจ็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงในบริเวณที่เส้นประสาทนั้นควบคุม
  3. อาการปวดที่รุนแรงและไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะที่รบกวนการนอน หรือปวดเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืน
  4. อาการปวดเฉพาะที่ ร่วมกับไข้ น้ำหนักลด หรือความผิดปกติอื่น เช่น ความผิดปกติในกระดูกหรือข้อ

การตรวจและการประเมินอาการ

1. ซักประวัติอาการ

การซักประวัติอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้อง เช่น

  • ตำแหน่งและรูปแบบการปวด เช่น ปวดตามแนวรากประสาท หรือปวดจากกล้ามเนื้อและกระดูก
  • อายุและอาชีพ โรคบางชนิดเช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน (Herniated Disc) มักพบในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี ในขณะที่โรคช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis)  มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • ลักษณะการปวด อาการปวดที่แย่ลงเมื่อทำกิจกรรม เช่น ไอ จาม หรือเดิน

2. การตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายประกอบด้วย

  • การตรวจทางคลินิกทั่วไป ตรวจดูท่าทางและการเดินที่ผิดปกติ เช่น ไหล่หรือกระดูกเชิงกรานไม่เท่ากัน
  • การตรวจกล้ามเนื้อและจุดกดเจ็บ เช่น ความเกร็งของกล้ามเนื้อหรือการกดเจ็บของกระดูกสันหลัง
  • การทดสอบพิเศษ เช่น
  • Spurling’s Test ตรวจการกดเส้นประสาทในกรณีที่เป็น Cervical Disc Herniation
  • Schober’s Test ตรวจความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังส่วนล่าง

3. การถ่ายภาพวินิจฉัย

เมื่อผลการตรวจทางคลินิกบ่งชี้ถึงปัญหาที่อาจเกิดจากกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

3.1 X-ray

  • ใช้สำหรับตรวจหาความผิดปกติของกระดูก เช่น กระดูกแตก การเคลื่อนของกระดูก (Spondylolisthesis) หรือการเสื่อมของข้อ
  • ข้อจำกัด ไม่สามารถแสดงโครงสร้างอ่อน เช่น หมอนรองกระดูก หรือเส้นประสาท

3.2 CT Scan

  • เหมาะสำหรับตรวจโครงสร้างกระดูกในรายละเอียด เช่น ภาวะ Spinal Stenosis
  • ใช้เวลาตรวจสั้นกว่า MRI แต่ไม่เหมาะสำหรับการแสดงเส้นประสาท

3.3 MRI

  • เหมาะสำหรับปัญหาเส้นประสาทและหมอนรองกระดูก เช่น Herniated Disc, Spinal Cord Compression หรือเนื้องอก
  • แสดงรายละเอียดทั้งโครงสร้างกระดูก เส้นประสาท และเนื้อเยื่ออ่อน

ปวดหลังเรื้อรัง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

อาการปวดหลังอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในช่วงแรก แต่หากไม่ได้รับการประเมินและรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

ดังนั้น การใส่ใจในรายละเอียดของอาการปวด และเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณสามารถป้องกัน หรือจัดการกับอาการปวดหลังได้อย่างทันท่วงที 

ปวดหลังเรื้อรัง ไม่ยอมหาย เสี่ยงโรคร้ายหรือเปล่า? อยากปรึกษาคุณหมอ ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top