หนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพคือการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มี 2 วิธีที่นิยม คือ การผ่าตัดมะเร็งลำไส้แบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดมะเร็งลำไส้แบบส่องกล้อง
การผ่าตัดทั้ง 2 เทคนิคนี้แตกต่างกันอย่างไร ขั้นตอน ระยะเวลา ข้อดีและข้อเสีย บทความนี้จะมาเปรียบเทียบให้ทราบกัน
สารบัญ
ขั้นตอนการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิด และแบบส่องกล้องนั้น มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน รวมทั้งระยะเวลาในการผ่าตัดที่ต่างกันด้วย ดังนี้
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิด
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิด เป็นการผ่าตัดมาตรฐาน ใช้รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทุกรูปแบบ โดยมีขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
- วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้ป่วย
- แพทย์กรีดเปิดแผลความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรบริเวณหน้าท้อง
- แพทย์ผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็ง พร้อมตัดต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับความเสียหายจากเซลล์มะเร็งออก
- เย็บปิดแผล
กระบวนการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิดนี้ ใช้เวลาประมาณ 90 นาที ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของอาการ
2. การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดรูแบบใหม่ ที่ได้รับความนนิยมในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
- วิสัญญีแพทย์วางยาสลบผู้ป่วย
- แพทย์เจาะรูแผลที่หน้าท้องขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 3-4 แผล จากนั้นสอดกล้องผ่าตัดพร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปด้านในแผล
- แพทย์ตัดนำลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็ง พร้อมเลาะต่อมน้ำเหลือส่วนที่ได้รับความเสียหายจากเซลล์มะเร็งออก
กระบวนการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการผ่าตัดผู้ป่วยแต่ละราย
จะสังเกตว่า ระยะเวลาในการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น นานกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เนื่องจากกระบวนการมีความซับซ้อนกว่า แพทย์ต้องดูการผ่าตัดผ่านกล้อง รวมทั้งต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะช่วยในการผ่าตัด นอกจากนี้ แพทย์จะต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือผ่าตัดด้วย
ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดมะเร็งลำไส้แต่ละแบบ
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิด
ข้อดี
- ใช้ผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แทบทุกรูปแบบ ทั้งในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ หรือที่เซลล์มะเร็งกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงเยอะ
- ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า
- ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถูกกว่า
ข้อเสีย
- แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ 20-30 เซนติเมตร
- ผู้ป่วยเสียเลือดมากกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
- มีอาการเจ็บแผลได้มากกว่า
- หลังผ่าตัดจะใช้เวลาฟื้นตัวค่อนข้างนาน โดยหลังออกจากโรงพยาบาล ต้องพักฟื้นประมาณ 4-6 สัปดาห์
- โอกาสติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสูงกว่า
2. การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง
ข้อดี
- ขนาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 3-4 แผล
- ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- มีอาการเจ็บแผลน้อยกว่า
- ระยะเวลาพักฟื้นสั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า
- โอกาสเสียเลือดน้อยกว่า
- โอกาสติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
ข้อเสีย
- ต้องอาศัยความชำนาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ผ่าตัดแบบส่องกล้องเท่านั้น
- ใช้ระยะเวลาผ่าตัดนานกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
- มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
ทั้งการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเปิดและแบบส่องกล้องมีขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดที่เหมือนกัน เว้นแต่ในผู้ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย อาจต้องมีการเตรียมตัวพิเศษอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่โดยหลัก ๆ การผ่าตัดทั้ง 2 แบบจะมีขั้นตอนการเตรียมตัวดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว รวมถึงรายการยาประจำตัว วิตามิน อาหารเสริมที่กินอยู่ ณ ปัจจุบันให้แพทย์ทราบล่วงหน้าอย่างครบถ้วน
- ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์กำหนด เพื่อประเมินความพร้อมก่อนรับการผ่าตัด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ จะต้องควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่แพทย์ประเมินว่า มีความปลอดภัยต่อการผ่าตัด
- งดอาหารและน้ำล่วงหน้า 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- งดกินอาหารที่มีกากใยสูงและกินอาหารเหลวหรือที่เป็นน้ำใสตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เพื่อทำความสะอาดลำไส้ให้สะอาดก่อนผ่าตัด
- กินยาถ่ายที่แพทย์สั่งจ่ายให้ก่อนผ่าตัด เพื่อไม่ให้มีอุจจาระและสิ่งตกค้างในลำไส้
การดูแลตนเองหลังผ่าตัด
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งแบบเปิด และแบบส่องกล้องโดยภาพรวมค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่จะมีบางคำแนะนำที่แตกต่างกันบ้าง เนื่องจากขนาดของแผลผ่าตัดของทั้ง 2 เทคนิคที่ไม่เท่ากัน และส่งผลต่อกระบวนการฟื้นตัวหลังผ่าตัดของผู้ป่วย รายละเอียดดังนี้
- สำหรับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง งดยกของหนักและงดออกกำลังกายอย่างหนัก 3-4 เดือน เนื่องจากการผ่าตัดแบบเปิดเป็นเทคนิคผ่าตัดที่แพทย์ต้องตัดชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้องออกค่อนข้างเยอะ และมีขนาดแผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่
- สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง งดยกของหนักและงดออกกำลังกายอย่างหนักประมาณ 1 เดือน นอกจากนั้นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทุกประการ
- งดให้แผลโดนน้ำ และทำความสะอาดแผลตามที่แพทย์แนะนำ
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- กินอาหารที่มีใยอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มปริมาณขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าเพิ่งรีบกินในปริมาณมากในทันที เพื่อป้องกันอาการแน่นท้องหรือท้องอืดหลังจากเพิ่งผ่าตัด
- เดินทางมาตรวจติดตามอาการตามนัดหมายของแพทย์อยู่เสมอ โดยในปีแรก แพทย์อาจนัดทุก 2 เดือน หลังจากในปีถัดๆ ไป ก็จะทิ้งระยะห่างมากขึ้นเป็นทุก 2-3 เดือนจนถึงทุก 6 เดือน
- หากพบอาการต่อไปนี้ ให้เดินทางมาพบแพทย์โดยทันที
การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง
แม้ปัจจุบันจะมีเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายแบบเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันและดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคนี้
ทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารที่ไม่สะอาด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และหมั่นตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุถึงเกณฑ์
โดยเฉพาะในผู้ที่อายุ 45-50 ปีขึ้นไปซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องรับการตรวจคัดกรองโรคนี้อย่างสม่ำเสมอ
ปวดท้องบ่อยๆ อุจจาระผิดปกติ กังวลจะเป็นอะไรร้ายแรงมั้ย ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย