transvaginal ultrasound screening process

อัลตราซาวด์ช่องคลอด ขั้นตอน เจ็บไหม ราคา

อัลตราซาวด์ช่องคลอด หนึ่งในวิธีการตรวจอวัยะสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแพทย์ให้ค้นหา และจำแนกโรคทางนรีเวชได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น แต่หลายคนอาจกังวลว่า อัลตราซาวด์ช่องคลอด จะเจ็บปวด มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก หรือมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่กล้าตรวจ 

บทความนี้จะมาเจาะลึกทุกแง่มุมเกี่ยวกับการอัลตราซาวด์ช่องคลอดให้ทราบกัน

การอัลตราซาวด์ช่องคลอด คืออะไร?

การอัลตราซาวด์ช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound: TVS) เป็นการตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก และช่องคลอด โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอด แล้วส่งคลื่นเสียงจากหัวตรวจออกไปกระทบอวัยวะอื่นๆ จากนั้นคลื่นเสียงจะสะท้อนกลับแล้วแปรเปลี่ยนเป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ปรากฏภาพอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานบนจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์

การตรวจอัลตราซาวด์คล่องคลอดมักใช้เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ติดตามการดำเนินของโรค หรือติดตามการตั้งครรภ์

เนื่องจากใช้หัวตรวจสอดเข้าไปในช่องคลอดโดยตรง ทำให้ได้ภาพอวัยวะภายในชัดเจนกว่าการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างแบบใช้หัวตรวจเคลื่อนไปบนผิวหนังบริเวณหน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการอัลตราซาวด์ช่องคลอดจะดีกว่าอัลตราซาวด์ช่องคลอดเสมอไป จำเป็นต้องให้แพทย์พิจารณาว่าใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะสมกับอาการที่เป็นมากที่สุด

อัลตราซาวด์ช่องคลอด ตรวจอะไรได้บ้าง?

ความผิดปกติที่พบด้วยการอัลตราซาวด์ช่องคลอด ได้แก่

  • เนื้อร้าย (Tumors)
  • เนื้องอก (Fibrois)
  • ถุงน้ำ (Cyst)
  • ติ่งเนื้อ (Polyps)
  • สัญญาณของอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • สัญญาณของมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง

การอัลตราซาวด์ช่องคลอดยังมักถูกใช้เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่ยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจอายุครรภ์ ตรวจการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ หาสัญญาณผิดปกติของการตั้งครรภ์ หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดปกติ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น ในกรณีที่มีบุตรยาก การอัลตราซาวด์ช่องคลอดก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ดี ในการหาสาเหตุของภาวะดังกล่าว

นอกจากนี้ การอัลตราซาวด์ช่องคลอดสามารถใช้ตรวจดูตำแหน่งห่วงคุมกำเนิด ว่ายังอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมหรือไม่ หรือใช้อาจใช้เพื่อดูตำแหน่งอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานสำหรับเตรียมการผ่าตัดอีกด้วย

เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ แพทย์อาจสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเทคนิคอื่นๆ นอกเหนือจากอัลตราซาวด์ช่องคลอด เช่น ตรวจภายใน ทำ CT Scan ฯลฯ 

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

โดยทั่วไปสามารถเริ่มตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการบ่งชี้ หรือความผิดปกติอื่นๆ การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างทางหน้าท้อง ก็อาจจะเพียงพอ 

ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด

  1. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย โดยอาจให้สวมใส่ผ้าถุงหรือกางเกงที่มีช่องเปิดบริเวณเป้า จากนั้นจึงให้นอนบนขาหยั่งเหมือนเวลาจะตรวจภายใน
  2. แพทย์จะใช้ถุงยางอนามัยครอบลงบนหัวตรวจอัลตราซาวด์แล้วชโลมเจลหล่อลื่นบนถุงยางอนามัยนั้น
  3. สอดหัวตรวจเข้าสู่ช่องคลอดผู้รับการตรวจความลึกประมาณ 2-3 นิ้ว จากนั้นจึงควบคุมเครื่องตรวจให้ปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ออกมา โดยอาจมีการขอให้ผู้รับการตรวจอยู่นิ่งๆ หรือขยับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อบันทึกภาพอวัยวะภายในจากมุมต่างๆ กัน
  4. เมื่อได้ภาพครบถ้วนแล้วจึงจะนำหัวตรวจออกจากช่องคลอด 

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดตลอดกระบวนการ ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

เตรียมตัวตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดอย่างไร?

ตามปกติ ผู้รับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องโกนขนก่อนตรวจ อย่างไรก็ตาม อาจสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ถึงการดื่มน้ำก่อนตรวจ เนื่องจากการมีน้ำเต็มกระเพาะปัสสาวะ ครึ่งกระเพาะปัสสาวะ หรือไม่มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะเลยนั้น ทำให้ภาพอวัยวะภายในที่จะได้จากการตรวจแตกต่างกัน

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด เจ็บไหม?

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดมักไม่สร้างความเจ็บปวด เนื่องจากหัวตรวจถูกออกแบบให้เข้ากับสรีระของผู้หญิง และมีการใช้เจลอุ่นให้หัวตรวจเข้าสู่ช่องคลอดได้ง่าย แต่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวได้บ้าง

ถ้ารู้สึกไม่สบายใจมากที่ต้องรับการตรวจด้วยวิธีนี้ อาจสอบถามแพทย์ถึงความเป็นไปได้ที่จะตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ซึ่งจะให้หัวตรวจเคลื่อนไปบนผิวหนังภายนอกเท่านั้น

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด ราคาเท่าไหร่?

ค่าใช้จ่ายในการตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดนั้น เริ่มต้นที่ประมาณ 900 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาล

ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด ใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม?

ถ้าพบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้อัลตราซาวด์ช่องคลอด ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดได้ ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษา หรือ ณ สถานพยาบาลเครือข่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยาก จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้

ส่วนผู้ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง การรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพจะไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกกันว่า บัตรทอง 30 บาท 

การใช้สิทธิประกันสังคมหรือ สปสช. ทำได้โดยเข้าไปยังสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์อยู่ แล้วเตรียมบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแสดงสิทธิ์นั้นๆ

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเป็นการตรวจที่ให้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งตรวจหาความผิดปกติทั่วไป ตรวจวินิจฉัยโรคทางนรีเวช ตรวจติดตามการตั้งครรภ์ ไปจนถึงวางแผนการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นต้องรับการตรวจด้วยวิธีนี้หรือไม่ หรือจะมีทางเลือกอื่นใดอีกบ้าง

อยากเช็กให้ชัวร์ว่าการอัลตราซาวด์ช่องคลอดนี้เหมาะกับอาการของเราไหม? จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่? มีวิธีตรวจอื่นใดใช้แทนกันได้หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top