เมื่อผู้หญิงก้าวเข้าสู่อายุเลข 4 จะเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยเจริญพันธุ์เข้าสู่วัยทอง ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เช่น อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ และยังมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ สูงขึ้น อย่างโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ
อายุเฉลี่ยของผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทองตอนอายุ 50 ปี แต่ผู้หญิงร้อยละ 95 เริ่มเข้าสู่วัยทองในช่วงอายุ 45–55 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยทอง การพบแพทย์เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนเพศ และรับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง จะช่วยให้ผู้หญิงมีสุขภาพดีสมวัย และลดความเสี่ยงจากโรคร้าย
สารบัญ
รู้จักกับฮอร์โมนเพศหญิง
ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามปกติ มีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่เฉพาะอย่าง จึงส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกัน และแต่ละช่วงอายุ ปริมาณและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนก็จะแตกต่างกันไปด้วย
ฮอร์โมนเพศหญิงถูกสร้างจากรังไข่เป็นส่วนใหญ่ มีบทบาทด้านเพศและการเจริญพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีลักษณะแตกต่างกัน
ฮอร์โมนเพศหญิงสำคัญที่ควรรู้จัก เช่น
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยสาว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น สะโพกผาย เต้านมและอวัยวะเพศใหญ่ขึ้น มีขนที่รักแร้และอวัยวะเพศ มดลูกใหญ่ขึ้น เสียงแหลมเล็ก กระดูกปิดหรือหยุดสูง
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่อื่น เช่น ควบคุมการผลิตคอเลสเตอรอลในหัวใจและหลอดเลือด รักษาคอลลาเจนในกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ รักษาสมดุลด้านจิตใจและอารมณ์ โดยทำงานร่วมกับสมองและระบบประสาท
ฮอร์โมน E2 (Estradiol hormone) หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิด Estradiol
เป็นฮอร์โมนสำคัญกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน มีบทบาทในการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การตกไข่ และรอบเดือน ถ้าฮอร์โมน E2 ผิดปกติจะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ นำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงช่วยวินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย และภาวะหมดประจำเดือนได้
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน มีหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หลายอย่าง เช่น ทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วมาฝังตัว ป้องกันมดลูกหดรัดตัวตอนตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ไปกระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนมและถุงน้ำนม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีน้ำนมหลังคลอด
ฮอร์โมน FSH (Follicle stimulating hormone)
สร้างจากต่อมใต้สมอง เพื่อกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตพร้อมกับการผสมกับอสุจิ
มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และรอบประจำเดือน ฮอร์โมน FSH จะช่วยบอกประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ และคาดคะเนช่วงวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิง
ถ้าฮอร์โมน FSH ผิดปกติไป จะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่ อาจมีผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ และเป็นสัญญาณของภาวะไข่ตกหลายใบหรือโรค PCOS
ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone)
เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นที่ต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิงและอัณฑะในเพศชาย บ่งบอกถึงความพร้อมการตั้งครรภ์ เพราะฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายปล่อยไข่ออกมาพร้อมที่จะปฏิสนธิ ภายใน 12–36 ชั่วโมง โอกาสในการตั้งครรภ์จะสูงมาก
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจฮอร์โมนเพศ แพ็กเกจตรวจฮอร์โมนอื่น ๆ
ตรวจฮอร์โมนเพศหญิง มีประโยชน์อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติตามอายุ บางคนอาจมีปัจจัยด้านพฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อมที่กระทบต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมนเพศด้วย เช่น การขาดสารอาหารที่จำเป็น ความเครียดสะสม และการใช้ยา
การตรวจฮอร์โมนเพศหญิงจะสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์การดูแลระดับฮอร์โมนให้สมดุล ช่วยลดการทำงานผิดปกติของร่างกายให้น้อยลง เพราะระดับฮอร์โมนที่ลดลงหรือเปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลให้เกิดอาการที่ไม่สุขสบาย หรือที่เรียกอาการวัยทอง
อาการวัยทองที่มักพบได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่องคลอดแห้ง นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ผมร่วง อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วิตกกังวลง่าย ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ผิวหนังบางลง มวลกระดูกลดลง ความรู้สึกทางเพศและอารมณ์ทางเพศลดลง
ปกติแล้ว หากอาการต่าง ๆ เป็นไม่มาก ร่างกายสามารถปรับตัวได้ แต่บางคนที่มีอาการรุนแรง อาจต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนหรือยาบางตัว เพื่อบรรเทาอาการที่ขึ้น ร่วมกับการดูแลสุขภาพตัวเองควบคู่ไปด้วย
ผู้หญิงวัย 40+ ตรวจฮอร์โมนเพศหญิง ตัวไหนดี
การตรวจฮอร์โมนสำหรับวัยทองหรือคนที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยทอง ส่วนมากแล้วจะแนะนำให้ตรวจฮอร์โมน E2 และฮอร์โมน FSH เป็นหลัก ซึ่งบอกถึงการทำงานของรังไข่ว่าทำงานและเข้าสู่วัยทองไปตามเกณฑ์ปกติหรือไม่
หากตรวจพบว่ามีระดับฮอร์โมน FSH ที่สูงขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิด Estradiol (E2) ลดลง สามารถวินิจฉัยว่ามีภาวะหมดประจำเดือน หรือบางคนที่มีระดับฮอร์โมนเหล่านี้ผิดปกติ โดยยังไม่ถึงเกณฑ์ อาจแสดงถึงการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ผู้หญิงวัยอื่นควรตรวจฮอร์โมนเพศหญิงไหม
ผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติโดยไม่ชี้ชัดว่าเป็นโรคอะไร หรือมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถปรึกษาคุณหมอถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเลือกโปรแกรมการตรวจฮอร์โมนเพศหญิงได้
การตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยหาสาเหตุอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น กลุ่มอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMS) ปวดประจำเดือน เป็นสิวมาก หรือปวดไมเกรน
รายการตรวจฮอร์โมนสำหรับผู้หญิงที่นิยม เช่น
- ฮอร์โมน FSH (Follicle stimulating hormone) เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนหมดก่อนวัย และคนที่อยากวางแผนครอบครัว แต่ยังไม่มีลูกมาแล้ว มากกว่า 1 ปี
- ฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีปัญหาการตั้งครรภ์ และเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมใต้สมอง
- ฮอร์โมน E2 (Estradiol hormone) เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีภาวะอ่อนเพลีย อ้วนง่ายร่วมด้วย ผู้หญิงที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวน หรือคนที่อยากมีลูก วางแผนครอบครัว
ก่อนไปตรวจฮอร์โมนเพศหญิง ต้องเตรียมตัวไหม
การตรวจฮอร์โมนเพศหญิงไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ ยกเว้นอยากตรวจร่างกายไปพร้อมกันทีเดียว ก็สามารถงดน้ำ งดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจตามที่สถานพยาบาลแนะนำ
การตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิง จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจฮอร์โมนในวันที่ 21 ของรอบเดือน และควรเข้ารับการตรวจในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่ตรวจระดับฮอร์โมนได้แม่นยำที่สุด
หากมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมน ต้องแจ้งให้คุณหมอหรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อนตรวจ
ตรวจฮอร์โมนเพศหญิง ยุ่งยากไหม เจ็บหรือเปล่า
การตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศหญิงมีขั้นตอนการตรวจเหมือนกับการเจาะเลือดทั่วไป แล้วนำไปตรวจปริมาณฮอร์โมนในเลือด ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และซักประวัติโดยรวม โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่องคลอดแห้ง ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน และนอนหลับยาก
หลังจากเจาะเลือดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อาจพบอาการช้ำจากการเจาะเลือด ซึ่งไม่เป็นอันตรายและหายได้เองในไม่กี่วัน
หลังได้ผลตรวจฮอร์โมนเพศหญิง ดูแลตัวเองอย่างไร
หลังจากได้ผลตรวจฮอร์โมนเพศหญิงแล้ว ถ้าระดับฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมอจะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ
กรณีที่มีความปกติของฮอร์โมนหรืออาการรุนแรง คุณหมอจะตรวจเพิ่มเติม และรักษาด้วยการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนหรือยากลุ่มอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ และช่วยให้ร่างกายกลับมาทำงานได้เป็นปกติ
ดูแลสุขภาพของผู้หญิงครบจบทีเดียว HDmall.co.th รวบมาให้ครบ โปรตรวจเช็กฮอร์โมนเพศ และโปรตรวจฮอร์โมนอื่น ๆ สะดวกรพ. หรือคลินิกไหน จองแล้วตรวจได้เลย