opcab treatment faq scaled

ผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ OPCAB วิธีดูแลตัวเอง ผลข้างเคียง ราคา

การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ (CABG: Coronary Artery Bypass Grafting) ต้องเตรียมตัวอย่างไร ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างไร ผ่าตัดแล้วออกกำลังกายได้ไหม มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม สารพัดคำถามเกี่ยวกับการผ่าตัด OPCAB บทความนี้มีตอบให้คุณ

สารบัญ

1. การทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ มีข้อดีอย่างไร

ตอบ: การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ เป็นวิธีการผ่าตัดที่ไม่ต้องหยุดการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะใช้ “Local Stabilizer” เข้ามาหยุดพื้นที่ของหัวใจที่ต้องเชื่อมต่อทางเบี่ยงให้หยุดนิ่งเท่านั้น แต่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของหัวใจจะยังสูบฉีดเลือดตามปกติ

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม เนื่องจากหัวใจยังเต้นอยู่ระหว่างการผ่าตัด ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดหัวใจ นอกจากนี้ ยังช่วยลดการอักเสบ และลดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้อีกด้วย

2. การทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ เหมาะกับใคร

ตอบ: การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายจุด หรือผู้ที่มีความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายหลังผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีโรคประจำตัวอื่น จนเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรัง โรคไต โรคตับ

3. การทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ราคาเท่าไหร่

ตอบ: ราคาในการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โรงพยาบาล ความซับซ้อนของการผ่าตัด โดยทั่วไป ราคาอยู่ในช่วงประมาณ 200,000 – 500,000 บาท หรือมากกว่านั้น

ผ่าตัดบายพาสหัวใจ OPCAB ต้องเตรียมตัวอย่างไร มีความเสี่ยงไหม? ขอความเห็นจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ  หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

4. ก่อนการทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตอบ: ก่อนผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ผู้ป่วยควรเตรียมตัว ดังนี้

  • ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ 
  • แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด 
  • งดยาตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำผ่าตัด
  • งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
  • ลางานล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เพื่อพักฟื้นร่างกาย 
  • วันผ่าตัดพาญาติมาด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก

5. การทำบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ มีขั้นตอนอย่างไร

ตอบ: แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะผ่าตัด

  1. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
  2. แพทย์จะเปิดแผลเพื่อเก็บหลอดเลือดที่แข็งแรงจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขา แขน หรือหน้าอก เพื่อนำมาใช้ทำทางเบี่ยงหลอดเลือด (Graft)
  3. แพทย์จะเปิดแผลที่หน้าอกเพื่อเข้าถึงหัวใจ จากนั้นจะใช้เครื่องมือ Local Stabilizer ช่วยหยุดเฉพาะบริเวณของหัวใจที่ต้องการผ่าตัด โดยหัวใจส่วนอื่นยังคงเต้นอยู่ตามปกติ แพทย์อาจใช้สายรัดหรืออุปกรณ์พิเศษ เพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันชั่วคราว
  4. แพทย์จะเชื่อมต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง เพื่อให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดใหม่ ทำหน้าที่แทนหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน 
  5. หลังจากนั้นจะทำการตรวจสอบว่าเลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดใหม่ได้ตามปกติ
  6. เมื่อแน่ใจว่ากระบวนการผ่าตัดเรียบร้อยดี แพทย์จะเย็บปิดแผล และย้ายผู้ป่วยไปยังห้องพักฟื้น เพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

ตลอดกระบวนการทำบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน เพื่อติดตามอาการ

6. หลังการทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

ตอบ: วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด มีดังนี้

    • ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ 1-2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
    • งดขับรถในระยะเวลา 2-3 เดือน
    • งดมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว ประมาณ 1 เดือน
    • งดยกของหนัก งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 4-6 เดือน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
    • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด กรณีที่มีอาการปวด สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
    • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
    • ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที

7. หลังการทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลนานไหม

ตอบ: ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น

เมื่อกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยปกติอาจใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ เพื่อฟื้นตัวเต็มที่

8. ผลข้างเคียงจากการทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ มีอะไรบ้าง

ตอบ: การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ มีผลข้างเคียงที่พบได้ ดังนี้

  1. การติดเชื้อและเลือดออก อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดหรือภายในร่างกาย และมีเลือดออกจากแผล
  2. ปวดแผลและบวม อาจรู้สึกปวดบริเวณแผลผ่าตัดและมีอาการบวมที่แผลหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  3. การเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต อาจมีความดันโลหิตสูงหรือต่ำหลังการผ่าตัด
  4. ปัญหาการหายใจและการทำงานของหัวใจ อาจมีปัญหาในการหายใจหรือการทำงานของหัวใจ รวมถึงการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม การเลือกผ่าตัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน รวมทั้งมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ย่อมช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

9. ในระยะยาว ผลลัพธ์หลังการทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจเป็นอย่างไร

ตอบ: การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ มักให้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว โดยมีอัตราการรอดชีวิตสูง และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากอาการเจ็บหน้าอกลดลง สามารถออกแรงได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อติดตามสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ 

10. หลังทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจสามารถออกกำลังกายได้เมื่อไหร่

ตอบ: ในช่วงหลังผ่าตัด ผู้ป่วยควรงดการออกกำลังกายหนักประมาณ 4-6 เดือน เพื่อให้หัวใจและร่างกายฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยในช่วงแรกให้เริ่มด้วยการเดินเบาๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกิจกรรมที่เข้มข้นหรือใช้แรงมากขึ้น

11. หลังทำ OPCAB สามารถขับรถได้ไหม

ตอบ: หลังผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถประมาณ 2-3 เดือน หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเจ็บปวดหรือเหนื่อยล้า ซึ่งอาจทำให้การขับขี่ไม่ปลอดภัย

หากจำเป็นต้องนั่งรถนานๆ เพื่อเดินทางไกล ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้า และหลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ รวมทั้งควรพกยาที่แพทย์สั่งให้พร้อมเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

12. หลังทำ OPCAB มีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

ตอบ: ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากการผ่าตัดบายพาส แต่ควรรอให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถเริ่มได้หลังจากผ่านไปประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

13. ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานแค่ไหน

ตอบ: ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถาวร เพื่อสุขภาพหัวใจที่ดีขึ้น เนื่องจากการสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด และการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด ส่วนแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อการฟื้นตัวและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

14. ควรรับประทานอาหารประเภทใดหลังทำ OPCAB

ตอบ: หลังการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร โดยอาหารที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดีขึ้น มีดังนี้

  1. อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา ไก่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ
  2. ผักและผลไม้ เช่น ผักใบเขียว เบอร์รี่ แอปเปิ้ล และกล้วย
  3. ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน 
  4. โปรตีนจากแหล่งที่ดี เช่น ไข่ ถั่ว

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารจานด่วน และเกลือ เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิต 

ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ควรหยุดงานนานแค่ไหน

ตอบ: ผู้ที่วางแผนจะเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ ควรลางานประมาณ 2-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละคน สำหรับผู้ที่ต้องทำงานใช้แรง หรือมีความเครียดสูงในการทำงาน อาจต้องลางานเป็นเวลานานขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

เชื่อว่าข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ OPCAB ที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษาโรคหัวใจแล้ว

ทำบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจที่ไหนดี? มีขั้นตอนอย่างไร? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top