snoring sleep apnea treatment faq scaled

กรนแบบไหนอันตราย วิธีรักษานอนกรน กินยา ทำ RF เลเซอร์ เครื่อง CPAP ผ่าตัด

การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีหลายวิธี ทั้งการปรับพฤติกรรมตนเอง การรักษาแบบไม่ผ่าตัด รักษาแบบผ่าตัด แพทย์มักแนะนำวิธีที่เหมาะสำหรับแต่ละคน โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ภาวะแทรกซ้อน อายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย บางกรณีอาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้

บทความนี้รวบรวม 8 ข้อสงสัยพร้อมคำตอบเกี่ยวกับการรักษาอาการนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เจาะลึกทุกรายละเอียดเอาไว้แล้ว

1. จะรู้ได้อย่างไรว่านอนกรน เริ่มอันตราย จำเป็นต้องรักษาแล้ว?

ตอบ: ถ้าพบสัญญาณเหล่านี้ ควรพิจารณารักษานอนกรน หรืออย่างน้อยควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อจะได้หาต้นเหตุของอาการกรน และตรวจดูว่ามีภาวะอื่นใดที่เป็นอันตราย เช่น หยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคลมหลับ อยู่หรือไม่

  • มีอาการสำลักหายใจขณะหลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ตัวกระตุก กัดฟัน นอนละเมอ
  • ตื่นมาแล้วยังรู้สึกนอนไม่อิ่ม มึนศีรษะ ไม่สดชื่น แม้ว่าจะไม่ได้นอนดึก
  • คอแห้งหลังตื่นนอน
  • ระหว่างวันรู้สึกง่วงมาก จนอาจต้องพักงีบหลับเป็นประจำ
  • มีปัญหาด้านความจำ การตั้งสมาธิจดจ่อ รู้สึกหงุดหงิดง่าย

นอกจากนี้ แม้ว่าตัวผู้มีปัญหานอนกรนเองจะไม่มีอาการดังที่กล่าวมา แต่ถ้าเสียงกรนดังต่อเนื่องรบกวนบุคคลใกล้ชิดจนเกิดปัญหานอนไม่หลับ ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรักษานอนกรน เพราะอาการนอนไม่หลับอาจพัฒนาไปเป็นภาวะที่ก่ออันตรายกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

2. การรักษาอาการนอนกรน ต้องหาแพทย์เฉพาะทางด้านไหน?

ตอบ: ผู้มีปัญหานอนกรน สามารถปรึกษาเบื้องต้นกับแพทย์อายุรกรรม หรือแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์ จากนั้นแพทย์อาจสั่งตรวจเฉพาะทาง Sleep Test และให้พบกับแพทย์เฉพาะทางด้านโรคการนอนหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (Certified Sleep Specialist)

สำหรับเด็ก อาจพบกับแพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในแต่ละสถานพยาบาล แพทย์ผู้ชำนาญการเหล่านี้อาจอยู่ในแผนกหู คอ จมูก หรืออาจมีแผนกสำหรับปรึกษาปัญหาการนอนโดยเฉพาะ

3. ผ่าตัดรักษานอนกรน เจ็บไหม?

ตอบ: การผ่าตัดรักษานอนกรนมีหลายเทคนิค ซึ่งระดับความเจ็บจะแตกต่างกันไป 

กรณีรักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดนาน เสียเลือดค่อนข้างมาก จะมีการวางยาสลบระหว่างผ่าตัด จึงไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์อาจปวดระบมแผลได้

ส่วนวิธีผ่าตัดแก้นอนกรนอื่นๆ ที่แผลขนาดเล็กกว่า เช่น การผ่าตัดฝังพิลลาร์เข้าไปในเพดานอ่อน แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาชาเพื่อให้ไม่เจ็บระหว่างทำ

โดยสรุปแล้วแพทย์จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกระหว่างทำการผ่าตัดนอนกรน โดยพิจารณาให้เหมาะกับเทคนิคการผ่าตัด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดได้หลังจากยาระงับความรู้สึกนั้นหมดฤทธิ์ แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล

4. ถ้าผ่าตัดรักษานอนกรนแล้ว จะไม่นอนกรนอีกเลยใช่ไหม?

ตอบ: แม้ว่าผ่าตัดรักษานอนกรนแล้ว ก็ยังอาจกลับมามีปัญหานอนกรนอีกได้

เนื่องจากการนอนกรน มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจหย่อนยาน เวลานอนหลับกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเหล่านี้จึงลงมาปิดทางเดินหายใจบางส่วน ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเมื่อผู้ป่วยหายใจเข้า-ออก กลายเป็นเสียงกรน

แม้ว่าจะผ่าตัดนำกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อส่วนเกินออกไป หรือ ใช้เทคนิคต่างๆ ทำให้กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อส่วนนั้นกระชับขึ้นจนทางเดินหายใจกว้างโล่ง แต่บริเวณนั้นก็อาจกลับมาหย่อนยานอีกได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • น้ำหนักตัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้เนื้อและไขมันบริเวณคอเพิ่มขึ้นด้วย
  • อายุมากขึ้น ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหรือเนื่อเยื่อในทางเดินหายใจหย่อนยานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหัตถการเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อภายในทางเดินหายใจเต่งตึงขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ผลข้างเคียงน้อย ส่วนใหญ่ทำแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย คือ การจี้ทางเดินหายใจด้วย เลเซอร์ หรือ คลื่นความถี่วิทยุ หัตถการนี้สามารถใช้เป็นการรักษาเสริม หรือทำซ้ำหลังจากผ่าตัดแล้วทางเดินหายใจกลับมาหย่อนยานได้

5. รักษานอนกรนด้วยยา ได้ไหม?

ตอบ: ถ้าอาการนอนกรนนั้น เกิดจากโรคหรืออาการที่ทำให้ทางเดินหายใจบวมชั่วคราว เช่น ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การรับประทานยาเพื่อรักษาโรคหรืออาการนั้นๆ ที่ต้นเหตุ จะทำให้อาการนอนกรนดีขึ้น

แต่ถ้านอนกรนเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจหย่อนยานการรับประทานยาไม่สามารถช่วยได้ ต้องใช้วิธีรักษาอื่นๆ

6. เมื่อรักษาอาการนอนกรนแล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะหายไปด้วยใช่ไหม?

ตอบ: ถ้าผู้ป่วยซึ่งมีปัญหานอนกรนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดๆ ที่ช่วยขยายทางเดินหายใจ เช่น ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ผ่าตัดนำกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนเกินบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น ออก หรือจี้โพรงจมูกด้วยคลื่นความถี่วิทยุ RF หรือเลเซอร์เพดานอ่อน ปัญหานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักหายไปด้วยกัน เนื่องจากอาการและภาวะดังกล่าวนี้เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจหย่อนยานจนอุดกั้นบางส่วนของทางเดินหายใจขณะนอนหลับ

อย่างไรก็ตาม นอนกรน กับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บางคนอาจแค่นอนกรน แต่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็ได้ การเข้าตรวจรับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางเป็นวิธีที่จะทำให้ทราบว่ามีภาวะอันตรายใดบ้างที่เป็นอยู่และจำเป็นต้องรักษา

7. มีวิธีอะไรบ้างที่รักษานอนกรน หยุดหายใจขณะหลับได้ แบบไม่ผ่าตัด?

ตอบ: ปัญหานอนกรน และ หยุดหายใจขณะหลับ มีทางเลือกในการรักษาได้หลายทางโดยไม่ต้องผ่าตัด เช่น

  • ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ลักษณะเป็นเครื่องสร้างแรงดัน แล้วต่อท่อให้สวมครอบจมูกขณะนอนหลับ มีสายรัดรอบศีรษะให้ส่วนครอบจมูกไม่หลุดออกขณะนอน
  • เลเซอร์เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น เพื่อให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าวเต่งตึงขึ้น ทางเดินหายใจจึงเปิดโล่ง หายใจสะดวกขึ้นเวลานอนหลับ
  • จี้ทางเดินหายใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ RF วิธีนี้ทำได้ทั้งในโพรงจมูก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ลิ้นไก่ เพื่อทำให้บริเวณดังกล่าวของทางเดินหายใจตึงกระชับขึ้น หายใจสะดวกขึ้น

ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำในการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด

8. ไม่ชอบใช้เครื่อง CPAP แต่ก็ไม่อยากผ่าตัด มีทางเลือกอื่นอีกไหม?

ตอบ: แม้ว่าการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) จะเป็นวิธีรักษานอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ที่มีประสิทธิภาพ และมีข้อดีที่ไม่ต้องผ่าตัด เจาะ หรือสร้างความเจ็บปวดใดๆ แก่ร่างกาย ทำให้แทบไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายใดๆ

แต่เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ต้องสวมใส่ตลอดเวลาขณะนอนหลับ ผู้ป่วยบางคนจึงอาจรู้สึกรำคาญ ใช้แล้วนอนไม่หลับ จนเลิกใช้เครื่องนี้ไปในที่สุด

ทางเลือกอื่นซึ่งใกล้เคียงกันในแง่เป็นอุปกรณ์ใช้ติดกับร่างกายขณะนอนหลับ ไม่ต้องมีการผ่าตัดหรือเจาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และสามารถรักษาได้ทั้งนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ คือ ใช้ที่ปิดจมูกสำหรับรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

อุปกรณ์นี้มีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายพลาสเตอร์แต่มีรูสำหรับให้อากาศเข้า-ออก วิธีใช้คือเพียงนำมาติดปิดรูจมูกก่อนนอนแล้วเข้านอนตามปกติ

ช่วงเข้านอนใหม่ๆ โดยมีที่ปิดจมูกแก้นอนกรนปิดอยู่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกหายใจไม่ค่อยสะดวกบ้าง สามารถหายใจทางปากได้ และเมื่อหลับไป ร่างกายจะปรับตัวให้หายใจทางจมูกเอง จากนั้นรูที่พลาสเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอากาศเข้า-ออกให้เหมาะแก่การสร้างแรงดันช่องทางเดินหายใจเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง หายใจสะดวก

นอกจากขนาดเล็ก พกพาง่าย ที่ปิดจมูกแก้นอนกรนยังมีข้อดีคือไม่ต้องพ่วงต่อกับเครื่องมือใดๆ และไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเหมือนเครื่อง CPAP

ถ้ามีปัญหานอนกรนแล้วสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้ามี มีความรุนแรงแค่ไหน เข้าข่ายเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้วหรือยัง ควรเข้าปรึกษาแพทย์ หรือตรวจ Sleep Test เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

อ่านจบแล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษานอนกรนเพิ่ม? ถ้าไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจ Sleep Test จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top