ตรวจ Pap Smear คัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างง่ายๆ

เป็นที่รู้กันว่าโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้หญิงทุกคนขนาดไหน และยังมีปัจจัยทำให้เกิดโรคนี้มากมายหลายด้านซึ่งยากจะควบคุมได้

ผู้หญิงทุกคนจึงควรมีการหมั่นตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเอาไว้อยู่เสมอ เพื่อที่หากพบผลตรวจว่ามีความเสี่ยง ก็จะได้หาทางรักษาหรือป้องกันได้ทันเวลา

การตรวจ Pap Smear ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แล้ววิธีนี้มีวิธีตรวจอย่างไร แม่นยำแค่ไหน ใครควรตรวจบ้าง เจ็บหรือไม่ HDmall.co.th ขอสรุปให้ผ่านบทความนี้

ตรวจ Pap Smear คืออะไร?

การตรวจแปบเสมียร์ (Pap Smear) ย่อมาจาก “The Papanicolaou Smear” หรือมีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า “(Conventional Pap Smear)” เป็นแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ผ่านการใช้เครื่องมือ Speculum สอดเข้าไปในปากช่องคลอดลึกถึงบริเวณปากมดลูก เพื่อป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวในตำแหน่งดังกล่าว จากนั้นนำออกมาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเซลล์ที่ผิดปกติและบ่งบอกถึงโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

ประโยชน์ของการตรวจ Pap Smear

การตรวจ Pap Smear มีประโยชน์ต่อการหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตเป็นหลักสำคัญ ผ่านการตรวจดูเซลล์ตัวอย่างเยื่อบุผิวที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะอักเสบที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อพยาธิ รวมถึงสามารถบ่งบอกถึงโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญการสำคัญที่ก่อโรคมะเร็งได้หลายอย่างทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งยังติดต่อแพร่กระจายเชื้อถึงกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ใครควรตรวจ Pap Smear?

ผู้หญิงทุกคนควรตรวจ Pap Smear โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเริ่มต้นตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี ความถี่ในการตรวจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุและเงื่อนไขของสุขภาพ โดยแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุก 3 ปี

  • ผู้หญิงที่อายุ 21 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมาแล้วประมาณ 3 ปี

ในกลุ่มผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุก 3 ปี หากผลตรวจในครั้งแรกเป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจอีกครั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่หากผลตรวจในครั้งแรกมีความผิดปกติหรือเห็นความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แพทย์ก็อาจแนะนำให้ไปรับการตรวจที่ละเอียดขึ้นเพิ่มเติม หรือมาตรวจ Pap Smear ครั้งต่อไปเร็วขึ้นกว่า 3 ปีได้

2. ผู้ที่ควรตรวจ Pap Smear ทุกปี

  • ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และควรตรวจหาเชื้อ HPV ควบคู่ไปด้วย

หากผลตรวจออกมาเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี และไม่พบการติดเชื้อไวรัส HPV ผู้เข้ารับบริการที่อายุ 30 ปีขึ้นไปก็สามารถยืดเวลาตรวจ Pap Smear เป็นตรวจทุกๆ 5 ปีแทนได้ แต่ยังต้องมีการตรวจภายในเป็นประจำอยู่เช่นเดิม

ยกเว้นแต่ในภายหลัง ผู้เข้ารับบริการได้ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ติดเชื้อไวรัส HIV ติดเชื้อไวรัส HPV มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หากเป็นเช่นนั้นก็ยังต้องตรวจ Pap Smear ทุกปีอย่างสม่ำเสมออยู่ หรือรับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์

การตรวจ Pap Smear จะต้องตรวจอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะยาวไปจนกระทั่งผู้หญิงทุกคนอายุได้ประมาณ 65-70 ปี ซึ่งเป็นวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว หากในช่วงอายุดังกล่าว ผู้เข้ารับบริการมีผลตรวจ Pap Smear เป็นปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปรึกษาแพทย์แล้วพบว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ก็สามารถหยุดการตรวจรูปแบบนี้ได้

ตรวจ Pap Smear เจ็บไหม?

การตรวจ Pap Smear มักไม่ให้ความรู้สึกเจ็บ แต่อาจให้ความรู้สึกไม่สบายตัวหรือระบมข้างในช่องคลอดเล็กน้อยโดยเฉพาะในการตรวจครั้งแรก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้เข้ารับบริการไม่เคยตรวจมาก่อน จึงทำให้รู้สึกไม่ชินร่างกายเมื่ออุปกรณ์สัมผัสกับปากช่องคลอดได้บ้าง

การเตรียมตัวก่อนตรวจ Pap Smear

เพื่อให้การตรวจ Pap Smear ดำเนินไปอย่างง่ายและผลตรวจมีความแม่นยำที่สุด ผู้เข้ารับบริการควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ทำความสะอาดช่องคลอดแล้วเช็ดให้แห้งเสียก่อนมารับบริการ ไม่จำเป็นต้องทาแป้งหรือฉีดผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นจุดซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น
  • ไม่ต้องโกนขนอวัยวะเพศ เพราะการโกนอาจเสี่ยงทำให้ผิวหนังช่องคลอดระคายเคืองหรือติดเชื้อจนทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • ควรสวมกระโปรงหรือสวมกางเกงที่ถอดออกได้ง่าย เนื่องจากการตรวจ Pap Smear จะต้องมีการถอดกาาเกงและกางเกงชั้นในเพื่อขั้นขาหยั่งในการเก็บตัวอย่างเยื่อบุผิวบริเวณปากช่องคลอด
  • นัดวันตรวจ Pap Smear อย่าให้ตรงกับวันมีประจำเดือน หรือรอให้ประจำเดือนรอบล่าสุดหมดไปก่อนประมาณ 10-20 วัน
  • หากกำลังใช้ยากิน ยาสวน หรือยาทาบริเวณปากช่องคลอด ควรงดทาล่วงหน้าประมาณ 2-3 วันหรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ก่อนไปรับบริการ
  • งดมีเพศสัมพันธ์และงดการใช้สารหล่อลื่นในช่องคลอด 48 ชั่วโมงก่อนรับบริการ

วิธีการตรวจ Pap Smear

การตรวจ Pap Smear มักไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน โดยส่วนมากมักมีขั้นตอนดังนี้

  1. เริ่มต้นจากผู้เข้ารับบริการถอดกางเกงหรือกระโปรง ตามด้วยกางเกงชั้นใน แล้วขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่งซึ่งต้องแยกขาออกและยกขาขึ้นวางบนแท่นทั้ง 2 ข้าง โดยควรปล่อยใจสบายๆ ไม่ต้องเกร็ง
  2. ระหว่างนั้นแพทย์จะสวมถุงมือแล้วสอดอุปกรณ์ Speculum เข้าไปในปากช่องคลอด ลึกลงไปถึงระดับปากมดลูก แล้วป้ายผิวบริเวณตำแหน่งนั้นเบาๆ เพื่อให้อุปกรณ์เปื้อนตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูก แล้วนำอุปกรณ์ออกมาจากปากช่องคลอด
  3. จากนั้นแพทย์จะนำเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่บนปลายอุปกรณ์ Speculum ไปป้ายลงบนแผ่นสไลด์ แล้วนำแผ่นสไลด์ไปย้อมด้วยสารน้ำตรึง (Fixative) หรือแอลกอฮอล์ 95% ไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติต่อไป

การดูแลตัวเองหลังตรวจ Pap Smear

หลังจากตรวจ Pap Smear เสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษหลังตรวจ เพียงรักษาสุขอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้นให้เหมาะสมทุกวันก็เพียงพอ

ตรวจ Pap Smear กี่วันรู้ผล

โดยทั่วไปการตรวจ Pap Smear จะใช้เวลารอตรวจวิเคราะห์ผลประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางสถานพยาบาลอาจใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 2-3 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล

การแปลผล Pap Smear

การแปลผล Pap Smear จะแบ่งออกได้ 2 ผลตรวจ คือ

  • ผลตรวจลบ (Negative) แสดงว่า ไม่พบเซลล์ผิดปกติที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ผลตรวจบวก (Positive) แสดงว่า พบเซลล์ผิดปกติที่บ่งบอกถึงโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้

อย่างไรก็ตาม การได้รับผลตรวจเป็น Positive ไม่ได้หมายความว่า ในท้ายที่สุดทุกคนจะต้องเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป แต่การได้รับผลตรวจ Pap Smear เป็น Positive สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ก็ยังสามารถยับยั้งโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น

  • ภาวะปากมดลูกอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อพยาธิบางชนิด
  • ภาวะติดเชื้อไวรัส HPV แต่ยังอาจอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • เซลล์ปากมดลูกผิดปกติ แต่ยังไม่ลุกลามเป็นโรคมะเร็ง
  • ภาวะช่องคลอดแห้ง จากการขาดฮอร์โมนเพศ พบได้บ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่ไม่มีฮอร์โมนหล่อเลี้ยงร่างกายเพียงพอจนประสบปัญหาช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ

ตรวจ Pap Smear ต่างกับ Thin Prep ยังไง

การตรวจ ThinPrep เป็นการตรวจที่มีขั้นตอนคล้ายกับการตรวจ Pap Smear เพียงแต่จะแตกต่างกันในส่วนของการเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ

โดยในการตรวจ Thin Prep เมื่อแพทย์เก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวออกมาจากปากมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่คล้ายกับแปรงเล็กๆ แล้ว ทางห้องปฏิบัติการจะมีการใช้น้ำยาพิเศษเพื่อกำจัดเซลล์อื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่บนตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวก่อนที่จะนำไปตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ เพื่อลดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ผลตรวจ และลดโอกาสได้ผลตรวจลวง

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันหลายสถานพยาบาลจึงนิยมใช้การตรวจ ThinPrep เข้ามาแทนที่การตรวจ Pap Smear เพราะมีระดับความแม่นยำของการวิเคราะห์ผลถึง 90-95%

การตรวจ Pap Smear อาจเป็นการตรวจที่สร้างความรู้สึกไม่สบายใจและไม่สบายตัวในคุณผู้หญิงบางท่าน แต่ก็จัดเป็นกระบวนการที่หลบเลี่ยงไม่ได้ เพื่อป้องกันโอกาสเกิดโรคมะเร็งตัวร้ายในอนาคตที่สามารถทำลายสุขภาพด้านอื่นๆ หรืออาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้


เช็กราคาแพ็กเกจตรวจมะเร็งผู้หญิง

Scroll to Top