opcab treatment process scaled

ผ่าตัดบายพาสหัวใจ คืออะไร เจ็บไหม พักฟื้นกี่วัน ราคา

การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ (OPCAB) ถือเป็นทางเลือกการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นเทคนิคใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีข้อโดดเด่นหลายประการ บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจขั้นตอนการรักษา และข้อควรรู้ต่างๆ ที่หลายคนสงสัย

สารบัญ

การผ่าตัดบายพาสหัวใจคืออะไร?

การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขา แขน หรือหน้าอก มาเชื่อมต่อกับหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องผ่านบริเวณที่ตีบหรืออุดตัน

แบบจำลองการผ่าตัดบายพาสหัวใจ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบหยุดหัวใจ และ ไม่หยุดหัวใจ ต่างกันอย่างไร?

การผ่าตัดบายพาสหัวใจมี 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดบายพาสแบบหยุดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้รักษาโรคหัวใจมานานนับ 30 ปี โดยแพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องอก และใช้ยาหยุดการเต้นของหัวใจเอาไว้ชั่วคราว และระหว่างผ่าตัดจะใช้อุปกรณ์พิเศษคือ เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On-Pump CABG) เป็นตัวช่วยให้เลือดยังสามารถไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยไม่ผ่านหัวใจได้ การผ่าตัดรักษาวิธีนี้ ให้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
  • การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ (Off-Pump Coronary Artery Bypass: OPCAB) วิธีนี้คล้ายคลึงกับวิธี CABG แตกต่างกันที่แพทย์จะไม่ใช้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ แต่จะใช้ “Local Stabilizer” เข้ามาหยุดพื้นที่ของหัวใจที่ต้องเชื่อมต่อทางเบี่ยงให้หยุดนิ่งเท่านั้น แต่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของหัวใจจะยังสูบฉีดเลือดตามปกติ

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม เนื่องจากหัวใจยังเต้นอยู่ระหว่างการผ่าตัด ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดหัวใจ นอกจากนี้ ยังช่วยลดการอักเสบ และลดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้อีกด้วย

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ (OPCAB) เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายจุด
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม เช่น ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีโรคประจำตัวอื่น ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรัง โรคไต โรคตับ

ขั้นตอนการทำบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

  1. แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะผ่าตัด
  2. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
  3. แพทย์จะเปิดแผลเพื่อเก็บหลอดเลือดที่แข็งแรงจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขา แขน หรือหน้าอก เพื่อนำมาใช้ทำทางเบี่ยงหลอดเลือด (Graft)
  4. แพทย์จะเปิดแผลที่หน้าอกเพื่อเข้าถึงหัวใจ จากนั้นจะใช้เครื่องมือ Local Stabilizer ช่วยหยุดเฉพาะบริเวณของหัวใจที่ต้องการผ่าตัด โดยหัวใจส่วนอื่นยังคงเต้นอยู่ตามปกติ แพทย์อาจใช้สายรัดหรืออุปกรณ์พิเศษ เพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันชั่วคราว
  5. แพทย์จะเชื่อมต่อหลอดเลือดทางเบี่ยง เพื่อให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดใหม่ ทำหน้าที่แทนหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน 
  6. หลังจากนั้นจะทำการตรวจสอบว่าเลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดใหม่ได้ตามปกติ
  7. เมื่อแน่ใจว่ากระบวนการผ่าตัดเรียบร้อยดี แพทย์จะเย็บปิดแผล และย้ายผู้ป่วยไปยังห้องพักฟื้น เพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

ตลอดกระบวนการทำบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน เพื่อติดตามอาการ

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

  1. ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ 
  2. แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด 
  3. งดยาตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  4. งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำผ่าตัด
  5. งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
  6. ลางานล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เพื่อพักฟื้นร่างกาย 
  7. วันผ่าตัดพาญาติมาด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

    • ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ 1-2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
    • งดขับรถในระยะเวลา 2-3 เดือน
    • งดมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว ประมาณ 1 เดือน
    • งดยกของหนัก งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 4-6 เดือน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
    • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด กรณีที่มีอาการปวด สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
    • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
    • ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที

ข้อดีของการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

  • ลดโอกาสเสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้มากกว่า เนื่องจากไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม
  • ลดการอักเสบและภาวะแทรกซ้อนจากการหยุดหัวใจไว้ชั่วคราว เช่น ภาวะอัมพาต ภาวะอักเสบทั่วร่างกาย การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ลดระยะเวลาในการผ่าตัดและระยะเวลาการพักฟื้นหลังผ่าตัด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

  • เป็นหัตถการที่ซับซ้อน ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจึงต้องมีความชำนาญการสูงมาก เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจเจ็บไหม?

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ เป็นการผ่าตัดใหญ่ โดยปกติผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ระบม หรือไม่สบายตัว บริเวณแผลผ่าตัดที่หน้าอก ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ และหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด โดยความเจ็บปวดจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และมักจะรู้สึกดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

แต่ผู้ป่วยบางรายอาจยังรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณแผลผ่าตัด หรือรู้สึกตึงที่หน้าอกเมื่อทำกิจกรรมบางอย่างได้บ้าง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอันตราาย

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจต้องพักฟื้นกี่วัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้นสามารถกลับบ้านได้ แต่ยังต้องพักฟื้นที่บ้านและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยปกติอาจใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์เพื่อฟื้นตัวเต็มที่

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ

  • ผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ 
    • อาการเจ็บแผลผ่าตัดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
    • การติดเชื้อจากแผลผ่าตัด 
    • อาการแพ้ยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่นๆ 
    • รู้สึกชาหรือบวมช้ำบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด 
    • มีเลือดออกจากแผลหรือมีเลือดคลั่งใต้ผิวหนัง
  • อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที
    • ไข้สูงและหนาวสั่น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน
    • หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • หายใจลำบาก รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจได้ยาก
    • เจ็บแผลอย่างรุนแรง แม้กินยาแก้ปวดก็ไม่ลดลง
    • แผลบวมแดงและมีของเหลวไหลซึมออกมา
    • แผลปริแตก
    • ปวดหลัง น่อง ต้นขา หรือขาหนีบ อาจเป็นสัญญาณของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกผ่าตัดกับแพทย์ผู้ชำนาญการ ในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน รวมทั้งมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ย่อมช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

การผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ราคาเท่าไหร่?

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดบายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โรงพยาบาล ความซับซ้อนของการผ่าตัด โดยทั่วไป ราคาอยู่ในช่วงประมาณ 200,000 บาทขึ้นไป

จะเห็นได้ว่า การผ่าตัดบายพาสหัวใจแบบไม่หยุดหัวใจ เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงจากการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ลดการอักเสบและภาวะแทรกซ้อนจากการหยุดหัวใจ และช่วยให้ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นลง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกวิธีรักษานั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง

รักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดบายพาส OPCAB ดีไหม? วิธีนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top