ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก มีกี่วิธี พักฟื้นนานแค่ไหน?

การตรวจพบเนื้องอกที่มดลูกเป็นฝันร้ายที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากพบเจอ แต่ด้วยมดลูกเป็นตำแหน่งที่ผู้หญิงทั่วโลกมักตรวจพบความผิดปกติอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรมและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่ต้องตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และรีบผ่าตัดนำออกให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เนื้องอกก้อนนั้นไปสร้างผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงได้

แล้วการผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกมีกี่แบบ ความเสี่ยงในการผ่าตัดแบบนี้ในปัจจุบันมีมากแค่ไหน ต้องพักฟื้นนานแค่ไหนจึงจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ติดตามได้ในบทความนี้จาก HDmall.co.th

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกคืออะไร?

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy) คือ การผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะมดลูกออกไป โดยยังคงเหลือมดลูกส่วนเดิมเอาไว้ จัดเป็นการผ่าตัดเพื่อเพื่อรักษาและป้องกัน ไม่ให้เนื้องอกที่ตรวจพบเจริญเติบโตลุกลามจนสร้างความเสียหายให้กับมดลูกทั้งหมด รวมถึงอวัยวะข้างเคียงด้วย

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกมีกี่แบบ?

ปัจจุบันการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบ่งออกได้ 3 รูปแบบใหญ่ๆ ซึ่งอาจมีขั้นตอนและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดแผลหน้าท้อง (Exploratory Myomectomy)

เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีตรวจเจอเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณหน้าท้องของผู้เข้ารับการผ่าตัด แล้วนำอุปกรณ์ขนาดเล็กสอดเข้าไปผ่าแยกก้อนเนื้องอกออกจากชั้นกล้ามเนื้อมดลูก จากนั้นทำการห้ามเลือด และเย็บแผลอย่างประณีต

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดหน้าท้องจะมีแนวทางการผ่าตัดคล้ายกับผ่าตัดทำคลอดเด็กทางหน้าท้อง แต่ขนาดแผลจะเล็กกว่า แต่ก็ยังต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์สูงมาก เนื่องจากชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกนั้นมีหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก และเสี่ยงที่จะคั่งเป็นก้อนหรือเสียเลือดมากเกินไปได้ จนผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายขึ้นในภายหลัง

2. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิดแผลหน้าท้องด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopic Myomectomy)

เป็นเทคนิคการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง แต่เปลี่ยนจากการเปิดแผลขนาดใหญ่เป็นการเจาะรูขนาดเล็กที่ช่องท้อง แล้วสอดอุปกรณ์เข้าไปถ่ายภาพให้แพทย์เห็นพยาธิสภาพของมดลูกที่มีเนื้องอกเกิดขึ้น แล้วค่อยสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปตัดนำก้อนเนื้องอกออกมา

3. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องที่โพรงมดลูก (Hysteroscopic Myomectomy)

แพทย์จะใช้ลำกล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปทางปากมดลูก ผ่านเข้าไปยังโพรงมดลูก แล้วถ่ายภาพเนื้องอกที่อยู่ภายในมดลูก จากนั้นนำส่งภาพขึ้นจอโทรทัศน์ภายในห้องผ่าตัด เพื่อให้แพทย์สามารถผ่าตัดนำเนื้องอกมดลูกออกมาได้อย่างแม่นยำ

จากนั้นแพทย์จะสอดเครื่องมือผ่าตัดที่อาจคล้ายกับวงลวดเล็กๆ เข้าไปรัดคล้องที่ตำแหน่งเนื้องอก แล้วตัดเนื้องอกออกด้วยการจี้ไฟฟ้าเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนจะทยอยนำชิ้นส่วนเนื้องอกออกมาทางปากมดลูก

4. ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกทางช่องคลอด (Transvaginal Myomectomy)

มักใช้ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอกยื่นออกมาทางปากช่องคลอด โดยแพทย์สอดอุปกรณ์เข้าไปทางปากช่องคลอดเพื่อคลำหาขั้วหรือฐานของก้อนเนื้องอก แล้วหนีบตัดก้อนเนื้องอกออกมาอย่างระมัดระวัง โดยไม่ให้มดลูกฉีกขาดหรือถูกดึงแรงจนปลิ้นออกมาด้วย จากนั้นเย็บปิดแผล

การผ่าตัดทางช่องคลอด มีจุดเด่นตรงที่จะไม่สร้างรอยแผลผ่าตัดไว้ที่ผิวหนังของผู้เข้ารับการผ่าตัดเลย และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้น้อย ทำให้ปวดเจ็บแผลได้น้อยกว่า และมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดค่อนข้างเร็ว แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่สามารถผ่าตัดได้ในผู้ที่มีมดลูกขนาดเล็ก หรือมีภาวะมดลูกหย่อน แต่ไม่มีพังผืดในช่องท้องเท่านั้น

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกๆ ประเภทที่ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยการเตรียมตัวหลักๆ อาจมีดังนี้

  • แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาประจำตัวทุกชนิด รวมถึงวิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพล่วงหน้า เพราะอาจต้องมีการงดยาและวิตามินบางชนิดก่อนเข้าผ่าตัด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องงดน้ำและงดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัดกับแพทย์เสียก่อน เช่น ตรวจหัวใจ ตรวจเอกซเรย์ปอด ในส่วนนี้แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเองว่าควรตรวจสุขภาพรายการใดบ้าง
  • ไม่ควรนำของมีค่าหรือเครื่องประดับราคาแพงมาด้วย เพื่อป้องกันการสูญหาย
  • พาญาติมาด้วยในวันรับการผ่าตัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในระหว่างการพักฟื้น
  • ลางานล่วงหน้าประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อเว้นช่วงเวลาให้เพียงพอต่อการพักฟื้นหลังผ่าตัด

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

โดยปกติแพทย์ผู้ผ่าตัดจะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอยู่แล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยคำแนะนำหลักๆ ที่อาจพบ มีดังนี้

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 2-5 คืน ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องสวนคาท่อปัสสาวะเอาไว้ประมาณ 1-2 วันหลังผ่าตัด
  • หากเผชิญอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลเพื่อขอยาบรรเทอาการได้เลย
  • อาจมีนักกายภาพบำบัดหรือเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกสอนการหายใจ การไอ การขยับตัว หรือตะแคงนอนอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาจนไปส่งผลกระทบถึงการทำงานของปอด และอาจเกิดการติดเชื้อหรือเกิดภาวะปอดแฟบได้
  • พักผ่อนให้มากๆ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
  • งดการขับรถด้วยตนเองประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด

ความเสี่ยงจากผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

ถึงแม้ในปัจจุบันการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยหลายอย่างเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับแพทย์ในการผ่าตัด แต่ก็ยังมีกลุ่มความเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกได้ เช่น

  • ภาวะเสียเลือดมากเกินไป โดยอาจขึ้นอยู่กับขนาดก้อนเนื้องอก จำนวนก้อนเนื้องอกที่ต้องเอาออก ความเสียหายของโพรงมดลูกหลังจากตัดก้อนเนื้อออกจากมดลูกแล้ว
  • ต้องผ่าตัดนำมดลูกออกทั้งหมด (Hysterectomy) โดยอาจเกิดขึ้นในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถเย็บซ่อมแซมชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกหลังจากตัดเนื้องอกออกได้
  • การเกิดเนื้อเยื่อพังผืดในช่องท้อง ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งกับวิธีผ่าตัดเปิดช่องท้องและการผ่าตัดส่องกล้อง
  • ภาวะมดลูกแตก จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เข้ารับการผ่าตัดเกิดตั้งครรภ์หลังจากผ่าตัด และอยู่ในระยะใกล้คลอดแล้ว ภาวะนี้จะทำให้มารดาตกเลือดและอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ เป็นกรณีที่พบได้น้อย ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อยู่
  • ภาวะมดลูกทะลุหลังผ่าตัด ส่วนมากมักเกิดจากความไม่ชำนาญของแพทย์ในการผ่าตัด จัดเป็นกรณีที่พบได้น้อยเช่นเดียวกับภาวะมดลูกแตก
  • ภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) เป็นภาวะที่จะทำให้ร่างกายมีการแลกเปลี่ยนก๊าซไม่ดีพอ จนอาจทำให้ความดันออกซิเจนในเลือดต่ำลง เกิดการติดเชื้อ หรือมีไข้ต่ำได้ แต่ในหลายสถานพยาบาลจะมีการป้องกันภาวะนี้ ด้วยการสอนทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้ฝึกหายใจเข้าออก หรือฝึกไออย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้มีเสมหะไปติดค้างอยู่ในหลอดลม
  • ภาวะน้ำเกินหรือปริมาณเกลือแร่ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการใส่สารน้ำเพื่อถ่างขยายโพรงมดลูกในปริมาณที่มากเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกอาจมีหลายอย่าง แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกพักฟื้นนานกี่วัน?

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะใช้เวลาพักฟื้นอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ให้งดทำกิจกรรมหนักๆ การออกกำลังกายหนักๆ หรือการยกของที่มีน้ำหนักเยอะ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มความหนักของกิจกรรมในชีวิตประจำวันทีละนิด และห้ามหักโหมเด็ดขาด

ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก กินอะไรได้บ้าง

เพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้หลากสีซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลายอย่าง มีส่วนช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด ทำให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงได้อย่างรวดเร็วขึ้น และแผลหลังการผ่าตัดสมานตัวไวขึ้น

ผลลัพธ์ของการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก โอกาสสำเร็จเยอะกี่เปอร์เซ็น?

เปอร์เซ็นความสำเร็จในการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันก็จัดเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราความสำเร็จสูง อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้หญิงเรายังมีอวัยวะมดลูกทำงานอยู่ในร่างกาย ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดเนื้องอกชิ้นใหม่บริเวณมดลูดได้

ด้วยเหตุนี้หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้หญิงทุกคนก็ยังต้องหมั่นมาตรวจสุขภาพและตรวจภายในอยู่ทุกๆ ปี เพื่อคอยเช็กโอกาสเกิดความผิดปกติที่มดลูกอยู่เสมอ หากตรวจพบสัญญาณรอยโรคหรือโอกาสเกิดเนื้องอกชิ้นใหม่ตรงส่วนใด แพทย์จะได้ให้คำแนะนำในการรักษาได้อย่างถูกวิธี

เนื้องอกหรือความผิดปกติใดๆ ก็ตามที่มดลูกยังสามารถหาวิธีรักษาหรือแก้ไขได้ทันเวลา หากคุณผู้หญิงทุกคนเข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือตรวจภายในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่หากตรวจเจอรอยโรคใดๆ ขึ้นมา แพทย์จะได้ช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาได้ทันท่วงที


เช็กราคาผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

Scroll to Top