ถึงซิลิโคนจะมีอายุการใช้งานได้นานสุดถึง 20 ปี แต่หลายคนอาจมีเหตุผลที่ทำให้ต้องนำออกก่อนเวลา (ระหว่าง 7-12 ปี) เนื่องจากการตัดสินใจเสริมหน้าอกสักครั้งมีปัจจัยต่างๆ ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับตัวเรามากมาย แต่อย่างไรก็ตาม อาการหลักๆ ที่ทำให้อาจต้องเอาถอดซิลิโคนหน้าอกออก มีดังนี้
สารบัญ
1. พังผืดรอบเต้านม
พังผืดรอบเต้านม (Capsular contracture) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาความผิดปกติของการใช้ผ่าตัดใส่ซิลิโคน
พังผืดรอบเต้าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจับได้ว่าซิลิโคนที่ใส่เข้ามานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงพยายามสร้างพังพืดเข้ามาล้อมซิลิโคนเพื่อปกป้องร่างกายไม่ให้สัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม
ปัจจุบันมีวิธีการป้องกันการเกิดพังพืดด้วยการนวดคลึงหลังจากใส่ซิลิโคน การเสริมหน้าอกแบบใต้กล้ามเนื้อ แต่ก็ยังอาจมีโอกาสเกิดพังพืดขึ้นได้ อาการแบ่งได้เป็นสี่ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เต้านมยังคงนุ่ม ดูธรรมชาติ
- ระยะที่ 2 เต้านมอาจมีความแข็งขึ้นเล็กน้อย แต่ยังดูไม่ออกว่ามีความผิดปกติ
- ระยะที่ 3 เป็นระยะสำคัญที่จะสังเกตเห็นความผิดปกติได้แล้ว อาจมีรอยเบี้ยว รูปร่างผิดปกติ และเมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเต้านมเริ่มแข็ง
- ระยะที่ 4 เห็นชัดเจนว่าเต้านมผิดรูป ขนาดทั้งสองข้างอาจไม่เท่ากัน หัวนมชี้ผิดทิศทาง และแข็งขึ้นชัดเจน
หากเป็นพังพืดในระยะที่สามและสี่ ส่วนมากมักจะต้องผ่าตัดแก้ไข ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการหมั่นนวดคลึงเต้านมตามที่ศัลยแพทย์แนะนำ เพื่อลดโอกาสในการเกิดพังพืดให้มากที่สุด
ซิลิโคนสมัยใหม่มีการผลิตซิลิโคนแบบผิวทรายขึ้นมาเพื่อพยายามลดปัญหาพังผืด อ่านความแตกต่าง ข้อดีข้อเสียของซิลิโคนผิวเรียบและผิวทราย < คลิก
2. ซิลิโคนรั่ว
ซิลิโคนรั่ว เป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนกังวลมากที่สุด ดังนั้นการจะสังเกตว่าซิลิโคนรั่วหรือไม่นั้นสามารถดูได้จากสองปัจจัยหลักๆ ก็คือ อาการของซิลิโคนรั่วและสาเหตุที่ซิลิโคนรั่ว
ซิลิโคนรั่วอาการเป็นอย่างไร?
สำหรับคนที่สงสัยว่าซิลิโคนรั่วหรือเสื่อมสภาพ ผู้ที่ใส่ซิลิโคนจะรู้สึกหรือมีอาการใดๆ หรือไม่ อาจดูสังเกตได้จากข้อต่อไปนี้
- แบบน้ำเกลือ เมื่อรั่วจะคล้ายกับลูกโป่งที่โดนปล่อยลม สังเกตได้จากเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ร่างกายจะสามารถดูดซึมน้ำเกลือจากซิลิโคนได้ แต่ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูเช่นกัน ส่วนใหญ่ซิลิโคนมักไม่ค่อยรั่วในช่วงปีแรกๆ ของการเสริมหน้าอก แต่จะมีโอกาสรั่วมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
- ซิลิโคนเจล ซิลิโคนเจลมีความหนาและคงตัวมากกว่าแบบน้ำเกลือ ดังนั้นจึงมีโอกาสเสื่อมสภาพน้อยกว่า ถึงแม้จะเสื่อมสภาพ ก็ยังคงรูปทรงไว้ใกล้เคียงกับทรงดั้งเดิม จึงสังเกตได้ยากกว่า อาการที่พอจะสังเกตได้มีดังนี้
- ขนาดลดลง ไม่เท่ากัน หรือบวมขึ้น
- มีก้อนแข็งๆ ในหน้าอกหรือเต้านม
- รู้สึกปวดหรือไวต่อความรู้สึกมากเป็นพิเศษ
- รู้สึกชา หรือรู้สึกเจ็บ
- รู้สึกแสบร้อนบริเวณเต้านม
ความจริงแล้วซิลิโคนในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โอกาสที่จะแตก รั่ว มีประมาณ 2-12% เท่านั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของแต่ละคน
สาเหตุที่ซิลิโคนรั่ว
สาเหตุที่อาจทำให้ซิลิโคนแตกหรือรั่วเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- พังผืดรอบซิลิโคน หากเกิดพังผืดมากเกินไป อาจทำให้ซิลิโคนรั่วได้
- การบีบอัดของเครื่องมือแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจหาสัญญาณบ่งชี้มะเร็งเต้านมที่ต้องมีการบีบอัดเต้านมเล็กน้อย ดังนั้นก่อนรับการตรวจแมมโมแกรมจึงควรแจ้งกับแพทย์ผู้ทำการตรวจด้วย
- เกิดการเสียหายจากเครื่องมือผ่าตัด หากรู้สึกถึงความผิดปกติตั้งแต่แรกๆ หลังเสริมหน้าอก ให้รีบแจ้งศัลยแพทย์ทันที
- อายุของซิลิโคนตามปกติ ซึ่งอาจอยู่ระหว่าง 7-12 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน
- การใส่น้ำเกลือมากเกินไป อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าซิลิโคนแบบน้ำเกลือสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเกลือได้ด้วย แต่หากเพิ่มมากจนเกินไป ก็มีโอกาสจะแตกรั่วได้
ดังนั้น การเลือกสถานที่และศัลยแพทย์ที่มีใบอนุญาต ได้รับการรับรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ
3. เกิดริ้วหรือรอยย่น
ในบางกรณีเมื่อผ่านไปสักระยะ ซิลิโคนที่เสริมเข้าไปอาจมีรอยย่นเป็นริ้วคลื่นจนสังเกตเห็นได้ หรือเมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกได้ ควรปรึกษากับศัลยแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อหาสาเหตุ แก้ไขหรือเอาออก
4. ตำแหน่งเคลื่อน
เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังที่หย่อนคล้อยตามธรรมชาติอาจทำให้หน้าอกที่เสริมมาเคลื่อนที่หรือดูแล้วไม่เป็นธรรมชาติได้ สัญญาณที่พบได้ก่อนก็คือ เริ่มรู้สึกว่าเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหย่อนมากกว่าอีกข้าง
หรือสังเกตได้จากทิศทางของหัวนมที่เริ่มชี้ลง ควรไปหาศัลยแพทย์เพื่อทำการยกกระชับหรือถอดซิลิโคนหน้าอกออก ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของศัลยแพทย์
หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยลดโอกาสเกิดริ้วรอยและตำแหน่งซิลิโคนเคลื่อน ควรพิจารณาจากสรีระและความต้องการของตัวเองว่าเหมาะสมกับซิลิโคนแบบไหน