ปัจจุบันมีหลายวิธีในการตรวจมะเร็งเต้านม หากตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองหรือแพทย์คลำให้แล้วพบความผิดปกติ แพทย์จะให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อระบุได้แน่ชัดว่า ความผิดปกติเหล่านั้นคือมะเร็งเต้านมหรือไม่ โดยส่วนมากแล้วมักใช้วิธีแมมโมแกรม ที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่มะเร็งระยะแรกๆ
สารบัญ
การตรวจแมมโมแกรม
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการเอกซเรย์เต้านมที่ใช้รังสีชนิดพิเศษ (Low-dose X-ray) ถ่ายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป ซึ่งจะถ่ายรูปเต้านมจากด้านบนและด้านข้างโดยบีบเนื้อเต้านมเข้าหากัน แต่อาจถ่ายรูปเพิ่มถ้าพบความผิดปกติเกิดขึ้น
แม้จะเป็นการตรวจด้วยรังสี แต่ก็มีปริมาณน้อยกว่ารังสีจากการเอกซเรย์ทั่วไปหลายเท่า จึงไม่กระจายรังสีไปยังอวัยะส่วนอื่นของร่างกาย และการตรวจแมมโมแกรมจะช่วยให้สามารถมองเห็นกระทั่งจุดหินปูนในเต้านม ทำให้สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการตรวจออกเป็น 2 แบบ คือ ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวัง และตรวจในผู้ที่มีอาการ เช่น คลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านม เจ็บเต้านม และมีของเหลวออกจากหัวนม การตรวจจะเป็นไปเพื่อวินิจฉัยโรค
ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรม
- ใช้เวลาไม่นาน
- ใช้รังสีปริมาณต่ำกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป ไม่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ
- สามารถตรวจมะเร็งเต้านมพบได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ไม่มีอาการผิดปกติจนถึงระยะที่มีอาการ แม้แต่เซลล์มะเร็งที่มีขนาดเล็กมาก
การตรวจแมมโมแกรมเหมาะกับใคร?
การตรวจแมมโมแกรมเหมาะสำหรับตรวจผู้ที่คลำเต้านมได้ลำบาก ผู้ที่ผ่านการเสริมหน้าอก และผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจึงควรตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละ 2 ครั้ง เมื่อตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะนัดตรวจเป็นประจำทุกๆ 3–6 เดือน
วิธีเตรียมตัวก่อนทำแมมโมแกรม
ก่อนรับการตรวจแมมโมแกรม ควรเตรียมตัวดังนี้
- ไม่ควรทาแป้ง ครีมถนอมผิว และสเปรย์ระงับกลิ่นกายบริเวณเต้านมหรือรักแร้
- เปลี่ยนเสื้อผ้าตามที่โรงพยาบาลกำหนด ซึ่งมักเป็นเสื้อที่หลวม สามารถเปิดตรวจเต้านมได้สะดวก
- หากเคยเสริมหน้าอกหรือมีอาการผิดปกติใดๆ ที่เกี่ยวกับเต้านม เช่น คลำเจอก้อน ควรแจ้งให้ทราบก่อนการตรวจ
- ตรวจกับสถานพยาบาลที่เคยมีประวัติมาก่อน หรือนำประวัติจากสถานพยาบาลเดิมมาด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย
ใครไม่ควรตรวจแมมโมแกรม?
แม้การทำแมมโมแกรมจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็มีกลุ่มคนที่ไม่แนะนำให้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ คือ
- ผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงใกล้ประจำเดือนมา เพราะเต้านมจะมีอาการคัดตึงมากกว่าปกติ
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
ตรวจแบบแมมโมแกรม Vs ตรวจแบบอัลตราซาวด์
การตรวจแมมโมแกรมและดิจิทัลแมมโมแกรม ต่างก็ใช้รังสีเพื่อสร้างภาพของเต้านม ต่างกันแค่การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจบนฟิล์มเอกซเรย์ ส่วนดิจิทัลแมมโมแกรมในโปรแกรมดิจิทัลที่ปรับปรุง ขยาย หรือปรับแต่งเพื่อประเมินเพิ่มเติมให้เห็นมุมมองมากขึ้น
ขณะที่การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเต้านม คลื่นเสียงจะสะท้อนกลับมาที่เครื่องและแสดงความแตกต่างของเนื้อเยื่อที่ตรวจพบว่าผิดปกติหรือไม่ และสิ่งผิดปกติที่พบเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถตรวจหาจุดหินปูนในเต้านมได้แบบวิธีแมมโมแกรม
อย่างไรก็ตาม ในสถานพยาบาลหลายแห่งมักตรวจแมมโมแกรมควบคู่กับไปการตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น
การตรวจแมมโมแกรมเจ็บไหม?
อาจรู้สึกไม่สบายตัวขณะทำแมมโมแกรมโดยเฉพาะช่วงที่มีการบีบอัดเต้านม ทั้งนี้ระดับความรู้สึกของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ขนาดของเต้านม
- ความอ่อนโยนของเต้านมที่อาจเกี่ยวกับรอบประจำเดือน
- ความชำนาญของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวจะเกิดขึ้นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ส่วนมากกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบจะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที โดยช่วงที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บจะมีเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
การตรวจแมมโมแกรมอันตรายไหม?
แมมโมแกรมเป็นการตรวจที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับการถ่ายภาพเอกซเรย์แบบอื่นๆ ที่คุณจะได้รับรังสีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำมาก
หากคุณอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีความกังวลต่อการตรวจแมมโมแกรม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับบริการ
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากตรวจแมมโมแกรม
หลังทำแมมโมแกรมแล้วผิวบริเวณเต้านมอาจเปลี่ยนสีบ้างเล็กน้อยจากแรงกด บางคนอาจมีความเจ็บปวดเล็กน้อย แต่อาการจะคงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติทันที
แพทย์จะทำการอ่านผลให้ฟังว่าพบสิ่งผิดปกติใดๆ หรือไม่ หากพบแล้วขั้นตอนต่อไปที่ควรทำจะเป็นอย่างไร เช่น อาจต้องทำแมมโมแกรมเพิ่มเติม หาภาพแมมโมแกรมเก่ามาเปรียบเทียบ นัดวันตรวจรอบต่อไปตามปกติ หรืออาจมีการส่งตรวจชิ้นเนื้อ
ผลลัพธ์ของการตรวจแมมโมแกรม
ผลลัพธ์ของการตรวจแมมโมแกรมที่อาจเป็นไปได้ อาจมีดังนี้
- ก้อนน้ำ หรืออาจเรียกอีกอย่างได้ว่าซีสต์ (Cyst) ลักษณะมักจะมีขอบเขตของก้อนที่ดูเรียบร้อย โดยปกติมักจะไม่ใช่ก้อนเนื้อมะเร็ง
- ก้อนเนื้อ ลักษณะมักจะขอบเขตของก้อนเป็นแฉกไม่เสมอ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเนื้อร้าย ซึ่งแพทย์มักให้นำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
- จุดหินปูน ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ รวมถึงมีทั้งแบบที่อันตรายและไม่อันตราย
ผลลัพธ์ทั้ง 3 รูปแบบนี้อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติม หรือไม่ต้องก็ได้ ขึ้นอยู่กับแพทย์ตัดสินใจ
ควรตรวจแมมโมแกรมบ่อยแค่ไหน?
โดยปกติความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) จึงแนะนำว่าผู้หญิงอายุที่อายุ 40-44 ปีควรเริ่มมาตรวจแมมโมแกรมอย่างน้อย 1 ครั้ง และเมื่ออายุ 45-54 ปี ควรมาตรวจแมมโมแกรมทุกปีปีละครั้ง และผู้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการตรวจแมมโมแกรมที่แนะนำจากแต่ละสถาบันอาจมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์ว่าความถี่ที่เหมาะสมในการตรวจแมมโมแกรมที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุดคือเท่าไร
หากแพทย์เห็นว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูง หรือมีญาติเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย คุณอาจต้องเริ่มตรวจแมมโมแกรมเร็วขึ้น