กัญชาจะอยู่ในระบบร่างกายนาน

กัญชาจะอยู่ในระบบร่างกายนานแค่ไหน

กัญชา (Marijuana / หรือชื่อทางการแพทย์คือ Cannabis) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่หลายคนนำมาใช้เป็นสารเสพติด โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้ผิดวิธีหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไป 

บทความนี้จะพาทุก ๆ คนมาตระหนักถึงผลกระทบของกัญชาที่มีต่อร่างกาย เช่น ฤทธิ์ต่อระบบต่าง ๆ รวมถึงระยะเวลาที่กัญชาจะอยู่ในร่างกาย  

กัญชา จะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน 

กัญชา เป็นสารเสพติดที่หาง่าย ปลูกง่าย และทุก ๆ ส่วนของต้นจะมีสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยเฉพาะสารที่ชื่อว่า “ทีเอชซี (THC) หรือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol)” ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อประสาทและอารมณ์มากที่สุด

โดยปกติแล้ว สารทีเอชซีของกัญชาจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระได้ 90% ภายในระยะเวลา 5 วัน

แต่เนื่องจากสารทีเอชซีของกัญชานั้นมีหลายชนิด รวมถึงความถี่และปริมาณในการเสพของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ทำให้ระยะเวลาที่กัญชาตกค้างในร่างกายค่อนข้างแปรปรวนและคาดการณ์ได้ยาก เช่น

  • ทีเอชซีมีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 1.6–57 ชั่วโมง (ค่าครึ่งชีวิต หมายถึง ระยะเวลาที่สารนั้น ๆ สลายตัวออกจากร่างกาย โดยลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากตอนแรก)
  • ทีเอชซีชนิด 11-OH-THC มีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 12–36 ชั่วโมง
  • ทีเอชซีชนิด THC-COOH มีค่าการขับครึ่งชีวิตถึง 1–6 วัน

นอกจากนี้ กัญชานั้นตรวจพบผ่านทางปัสสาวะได้เพียง 2 ชั่วโมงหลังเสพ และยังคงตรวจพบอนุพันธ์ (ส่วนประกอบของสารเสพติดกัญชา) ได้อีก แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ตาม

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย กัญชาจะออกฤทธิ์อย่างไรบ้าง 

กัญชาเป็นสารเสพติดที่ดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างรวดเร็ว การออกฤทธิ์จะแตกต่างกันไปตามวิธีเสพ เช่น การสูบ (Smoking) จะทำให้สารทีเอชซีในกัญชาเข้าสู่กระแสเลือดสูงสุดภายในไม่เกิน 8 นาที ส่วนการผสมกัญชากับเครื่องดื่มต่าง ๆ สารทีเอชซีจะเข้าสู่กระแสเลือดสูงสุดภายใน 2–3 ชั่วโมง

จากนั้นสารก็จะเข้าไปตามอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยงจำนวนมาก เช่น ตับ ไต หัวใจ และสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เช่น

  • ซีรีบรัลคอร์เท็ก (Cerebral cortex) มีหน้าที่สร้างอารมณ์ความรู้สึก สัมพันธ์กับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือด
  • ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ทำงานเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้
  • ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ควบคุมความสมดุลของร่างกาย การเคลื่อนไหว และกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ

หลังจากนั้น ตับจะทำปฏิกิริยากับเมแทบอลิซึม (Metabolism คือ ปฏิกริยาเคมีเพื่อเผาผลาญของเสียออกจากร่างกาย) โดยสารจากกัญชาจะถูกขับออกผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะดังที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง

การเสพกัญชา ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร 

นอกจากได้รับสารเสพติดจากกัญชาแล้ว ยังได้รับสารเคมีอื่นด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับวิธีเสพ เช่น หากใช้วิธีสูบ ผู้เสพจะได้รับสารเคมี อย่างน้ำมันดินและสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือด ก่อนจะหมุนเวียนทั่วร่างกาย ทำให้เกิดผลกระทบตามมา ทั้งระยะสั้น และผลระยะยาว ดังนี้ 

1. ผลกระทบด้านอารมณ์

หากเสพในปริมาณน้อย กัญชาอาจทำให้คลายกังวลใจ พูดมากขึ้น และอารมณ์ดีขึ้นได้ แต่หากเสพในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หลงผิด จิตเสื่อม กระวนกระวาย ฝันเฟื่อง และสุดท้ายอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า 

2. ทำลายสมอง

หลังเสพ กัญชาจะส่งผลระยะสั้น ๆ ทำให้สมองสูญเสียความทรงจำ สับสน และวิตกกังวล แต่ถ้าเสพกัญชาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สติปัญญาลดลง และสมาธิสั้นได้ในระยะยาว หากมีประวัติเป็นผู้ป่วยจิตเภท ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงกว่าคนทั่วไป

3. ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ

ในเพศหญิง พบว่า การเสพกัญชาจะส่งผลให้รอบเดือนผิดปกติ และตกไข่ลดลงได้ สำหรับเพศชาย การเสพกัญชาอาจทำให้รู้สึกเฉยชา ไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงกิจกรรมทางเพศด้วย

เนื่องจากกัญชาจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชายได้น้อยลง จนส่งผลให้ปริมาณอสุจิน้อยลงตามไปด้วย และลงเอยด้วยการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในที่สุด

4. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

กัญชาทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง และติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย คล้ายกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีเชื้อเอชไอวี (HIV

5. เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

เมื่อผู้มีครรภ์เสพกัญชา จะทำให้เซลล์ประสาทในสมองของทารกที่คลอดออกมาผิดปกติ เช่น มีความผิดปกติด้านการพูด ความจำ กระบวนการคิดช้าลง อีกทั้งยังส่งผลต่อฮอร์โมนเพศและพันธุกรรมด้วย เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ทำลายโครโมโซมของทารกนั่นเอง 

6. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด

ผู้ที่เสพกัญชามักมีพฤติกรรมยัดไส้กัญชาใส่มวนบุหรี่ และสูดควันไว้ในปอดนานกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากขึ้น โดยการสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชา 4 มวนนั้นเท่ากับการสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 20 มวน จึงเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้มากกว่า 5 เท่า 

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลอดลม เนื่องจากมีสารไปเกาะติดตามทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะมากอีกด้วย

กัญชา เป็นพืชที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้ทางการแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่นำกัญชามาใช้เป็นสารเสพติดเพื่อคลายเครียด

ทั้งนี้ การใช้กัญชาในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบทางเดินหายใจ ความคิด อารมณ์ หรือความผิดปกติทางจิต จึงควรหลีกเลี่ยงการเสพกัญชา

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา ผลข้างเคียง หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้กัญชา สามารถสอบถามแพทย์ได้โดยตรง


เพราะ Health ดี อะไรก็ดี อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านจาก HD ได้ที่ HDmall Blog


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top