กิจวัตรการขับถ่ายที่ดีและคล่องตัวย่อมสร้างเสริมการมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับเผชิญกับปัญหาเลือดออกที่ทวารหนัก หรืออาการเจ็บบริเวณทวารหนักระหว่างถ่ายอุจจาระ ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้การขับถ่ายยากลำบากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งอาการเลือดออกและรู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนักสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยและเป็นโรคที่ค่อนข้างน่าอายในมุมมองของหลายๆ คนก็คือ โรคริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoid)
จริงๆ แล้วโรคริดสีดวงทวารไม่ใช่โรคที่น่าอายอย่างที่หลายคนคิด หากมองในอีกแง่หนึ่ง โรคนี้ก็เป็นอีกความผิดปกติอย่างหนึ่งที่ไม่ต่างจากโรคอื่นๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เพียงแต่อาจเป็นเพราะตำแหน่งที่เกิดโรคริดสีดวงทวารนั้นอยู่ที่ทวารหนัก จึงทำให้หลายคนอายที่จะบอกคนอื่นหรือเดินทางมาพบแพทย์
สารบัญ
ริดสีดวงทวารมีกี่ชนิด?
โรคริดสีดวงทวารแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. โรคริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids)
โรคริดสีดวงทวารภายใน เกิดจากหลอดเลือดดำของเนื้อเยื่อภายในทวารหนักเกิดการโป่งพอง และเลื่อนตัวลงมาบริเวณปากทวารหนัก สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่
- หลอดเลือดพองตัวจนมีก้อนริดสีดวงเกิดขึ้น ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน แต่จะยังไม่มีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก
- มีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักระหว่างถ่ายอุจจาระ แต่จะหดกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่งอุจจาระ
- ก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักระหว่างอุจจาระ และไม่หดกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่งอุจจาระ ต้องใช้นิ้วช่วยดันกลับเข้าไปเท่านั้น
- ก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาจากทวารหนักไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้ และอาจมีอาการเจ็บหรือปวดเกิดขึ้นระหว่างขับถ่าย รวมถึงระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน
2. โรคริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids)
โรคริดสีดวงทวารภายนอก เกิดจากหลอดเลือดดำของเนื้อเยื่อตรงตำแหน่งช่องรอยย่นของทวารหนักเกิดการโป่งพองจนดันตัวออกมาเป็นติ่งเนื้อ และยื่นออกมาจากช่องทวารหนัก
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารทั้งภายในและภายนอกสามารถเกิดร่วมกันได้ภายในเวลาเดียวกัน หรือเกิดเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยอาการหลักๆ ที่พบได้บ่อยเมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวารได้แก่
- มีเลือดติดมากับอุจจาระ หรือเลือดไหลออกมาจากทวารหนักระหว่างขับถ่าย
- คัน ปวด หรือเจ็บบริเวณทวารหนักทั้งในระหว่างขับถ่ายและระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน
- มีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อปลิ้นออกมาจากทวารหนัก บางรายอาจยื่นออกมาระหว่างขับถ่ายเท่านั้น หรือยื่นออกมาตลอดแม้ไม่ได้อยู่ในช่วงขับถ่ายก็ตาม
รักษาริดสีดวงมีกี่วิธี?
โรคริดสีดวงสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและระดับความรุนแรงของโรคริดสีดวงในผู้ป่วยแต่ละท่าน โดยแบ่งออกได้หลักๆ 4 วิธี ได้แก่
1. รักษาริดสีดวงด้วยการใช้ยาเหน็บ
การใช้ยาเหน็บริดสีดวง (Hemorrhoidal Suppository) เป็นวิธีรักษาโรคริดสีดวงขั้นพื้นฐานที่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ ผ่านการใช้ยาลดการอักเสบ อาการบวม คัน หรือเจ็บที่ทวารหนักที่มีลักษณะเหมือนเป็นแท่งช็อคสีขาวขนาดเล็กสอดเข้าไปในทวารหนัก
หลังจากนั้นตัวยาจะละลายอยู่ภายในทวารหนักไปจนหมด และทำให้อาการของโรคเบาบางลงจนหายดีไปในที่สุด ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเหน็บริดสีดวงร่วมกับยาทาด้วย โดยตัวยาเหน็บ ใช้สำหรับบรรเทาอาการภายในทวารหนัก ส่วนยาทานั้นใช้สำหรับลดอาการบริเวณปากช่องทางทวารหนัก
ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยยาเหน็บ
- หาซื้อยาได้ง่ายตามร้านขายยา แต่จะต้องสั่งจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น
- สามารถใช้ยาได้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องรักษาผ่านแพทย์
- เป็นยาสำหรับใช้รักษาอาการท้องผูกได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการรักษาที่แพทย์แนะนำซึ่งอาจต้องรักษาแยกอาการกัน
- เป็นวิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้น
ข้อเสียของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยยาเหน็บ
- อาจทำให้รู้สึกเจ็บได้ระหว่างสอดยาเข้าทวารหนัก โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการจากโรคริดสีดวงทวารค่อนข้างรุนแรง
- หากใช้ยานานเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
รักษาริดสีดวงทวารด้วยยาเหน็บเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ไม่สามารถรักษาโรคริดสีดวงทวารด้วยการกินยาได้ หรือตัวยาย่อยหมดแล้วในกระเพาะอาหารและไม่ได้ไปรักษาอาการริดสีดวงทวาร
- ผู้ที่มีอาการท้องเสีย หรือท้องผูกเรื้อรัง ต้องเบ่งอุจจาระนานๆ
- ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงในระยะเริ่มต้นหรืออาการยังไม่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้เริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีนี้ก่อน
2. รักษาริดสีดวงด้วยการยิงเลเซอร์
การรักษาริดสีดวงด้วยการยิงเลเซอร์ เป็นวิธีการรักษาโรคริดสีดวงแบบใหม่ที่ให้ผลลัพธ์น่าสนใจหลายด้าน โดยแพทย์จะวางยาชาให้กับผู้ป่วย จากนั้นผ่าเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณก้อนหรือติ่งเนื้อที่เป็นริดสีดวงทวาร แล้วสอดเส้นใยแก้วสำหรับยิงพลังงานเลเซอร์เข้าไปด้านใน โดยตัวพลังงานเลเซอร์จะเข้าไปช่วยลดขนาดหลอดเลือดในเนื้อเยื่อทวารหนักซึ่งโป่งพองให้ค่อยๆ ฝ่อและยุบตัวลงในที่สุด
ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการยิงเลเซอร์
- เป็นวิธีรักษาที่ไม่สร้างผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหูรูด รวมถึงเยื่อบุทวารหนักบริเวณโดยรอบ
- ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เนื่องจากมีการวางยาชาให้ก่อนการผ่าตัด
- แผลมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย จึงทำให้อาการปวดระบมแผลค่อนข้างน้อย และไม่ต้องพักฟื้นนาน
ข้อเสียของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการยิงเลเซอร์
- มีโอกาสกลับมาเป็นริดสีดวงซ้ำได้มากกว่าวิธีรักษาแบบการผ่าตัดเล็กน้อย
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างแพง โดยอาจถึงหลักแสน
รักษาริดสีดวงทวารด้วยการยิงเลเซอร์เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ต้องการเห็นผลลัพธ์การรักษาค่อนข้างไว แผลเล็ก และไม่ต้องพักฟื้นนาน
- ผู้ที่ลองรักษาด้วยการกินยา หรือใช้ยาเหน็บแล้วไม่หาย
3. รักษาริดสีดวงด้วยการรัดยาง
เป็นอีกแนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร ผ่านการใช้ยางรัดบริเวณตำแหน่งฐานของติ่งเนื้อริดสีดวงที่ยื่นออกมา จนเลือดไม่สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงติ่งเนื้อบริเวณนั้นได้ และทำให้ติ่งเนื้อฝ่อ มีขนาดเล็กลงไปภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนยางรัดก็จะหลุดไปเองพร้อมกับการอุจจาระ
ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการรัดยาง
- เจ็บน้อยกว่าวิธีผ่าตัด
- ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน
- ใช้เวลาทำหัตถการไม่นาน ประมาณ 20-30 นาที
ข้อเสียของการรักษาริดสีดวงด้วยการรัดยาง
- หลังจากรับบริการ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรู้สึกปวดอุจจาระตลอดเวลาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งจะต้องขับถ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อลดอาการแทรกซ้อนบริเวณตำแหน่งที่มีติ่งเนื้อริดสีดวงทวาร
- ยังมีโอกาสเกิดโรคริดสีดวงทวารซ้ำได้อีก แต่โอกาสพบได้ค่อนข้างน้อย
รักษาริดสีดวงทวารด้วยการรัดยางเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารในระดับ 2 ขึ้นไป
- ผู้ที่รักษาโรคริดสีดวงทวารด้วยการใช้ยาเหน็บ แล้วยังไม่หาย
- ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารและไม่ต้องการใช้วิธีรักษาโดยการผ่าตัดหรือการยิงเลเซอร์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินอาการจากแพทย์อีกครั้ง
4. รักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัด
การรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัด เป็นการรักษาโดยการตัดนำติ่งเนื้อริดสีดวงทวารออกไป จากนั้นแพทย์จะห้ามเลือด แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ออกมาอีก ผ่านการใช้เครื่องมือเย็บอัตโนมัติ (Staple Haemorrhoidectomy: PPH) ซึ่งสามารถเลื่อนนำติ่งเนื้อที่ยื่นออกมากลับเข้าไปในทวารหนักและเย็บจากภายในเพื่อไม่ให้ติ่งเนื้อเลื่อนกลับออกมาจากช่องทวารหนักได้ด้วย
ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัด
- สามารถรักษาโรคริดสีดวงทวารได้ทุกระยะและทุกรูปแบบ
- มีความเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำค่อนข้างน้อย
- ด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน จึงทำให้ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่นานนัก โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง
ข้อเสียของการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารบางรายอาจไม่สามารถใช้วิธีนี้รักษาโรคได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์
- การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดด้วยเครื่องเย็บอัตโนมัติก็จะมีโอกาสเจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่า
ไม่รักษาริดสีดวงทวารได้ไหม?
ไม่ควรปล่อยริดสีดวงทวารเอาไว้โดยไม่รักษา เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารไม่สามารถหายได้เอง ถึงแม้ผู้ป่วยบางรายอาจบรรเทาอาการของโรคนี้ได้ผ่านการแช่น้ำอุ่นที่ทวารหนักบ่อยๆ แต่ทางที่ดีโรคนี้ควรได้รับการวินิจฉัยและแนะนำวิธีรักษาผ่านแพทย์จะดีที่สุด เพื่อให้ปัญหาของโรคได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง
หากรู้สึกไม่สบายตัวโดยเฉพาะในตำแหน่งทวารหนัก หรือรู้สึกถึงการขับถ่ายที่ไม่คล่องตัว มีความรู้สึกเจ็บในระหว่างขับถ่าย ก็อย่านิ่งนอนใจ และอย่าอายที่จะเดินทางไปพบแพทย์ เพราะโรคริดสีดวงทวารก็จัดเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้ในคนทั่วไป และสามารถรักษาให้หายได้ไม่ต่างจากโรคอื่นๆ