โรคไส้เลื่อน (Hernia) เป็นโรคที่เกิดจากลำไส้บางส่วนเลื่อนออกมาผนังช่องท้อง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรีบทำการผ่าตัดเพื่อดันลำไส้ส่วนที่เลื่อนออกมา ให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นการลำไส้ที่เลื่อนออกมาอาจลุกลามกลายเป็นโรคลำไส้อุดตัน หรือลำไส้เน่าจากปัญหาขาดเลือดไปเลี้ยงลำไส้ได้
สารบัญ
สัญญาณที่บอกว่าคุณอาจเป็นไส้เลื่อน
อาการบ่งชี้ที่มักพบได้เมื่อเกิดโรคไส้เลื่อน และควรรีบพาตัวเองไปตรวจวินิจฉัยกับแพทย์โดยทันที ได้แก่
- คลำพบก้อนบริเวณขาหนีบ หน้าท้อง หรือถุงอัณฑะ
- ก้อนที่นูนออกมามักหายไปเวลานอนราบลง และจะนูนชัดยิ่งขึ้นเวลาออกแรงหนักๆ ที่ช่องท้อง เช่น เวลาวิ่ง เวลายกของหนัก เวลาออกกำลังกาย
- รู้สึกปวดแสบท้อง หรือแน่นท้อง
- เจ็บหน้าอก
- แสบร้อนหน้าอกคล้ายกับอาการกรดไหลย้อน
ผ่าตัดไส้เลื่อนมีกี่แบบ?
แนวทางการผ่าตัดไส้เลื่อนแบ่งออกได้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่
1. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้องเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน โดยแพทย์จะกรีดแผลแล้วดันลำไส้ที่เลื่อนกลับเข้าไปอยู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นจะทำการซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงให้กับผนังช่องท้องผ่านการวางวัสดุตาข่ายสังเคราะห์เทียมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไส้เลื่อนซ้ำในอนาคต
ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
ข้อเสียของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง
- แผลหลังผ่าตัดมีขนาดใหญ่
- ต้องพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์ และหลังผ่าตัดอาจยังไม่สามารถยืนและเดินตัวตรงได้ในทันที
- มีโอกาสเจ็บแผลหลังการผ่าตัดได้มากกว่า
- เสียเลือดในระหว่างการผ่าตัดมากกว่า
2. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่นิยมทำกันในหลายสถานพยาบาล โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลที่ขนาดไม่ใหญ่มาก แล้วดันลำไส้ที่เลื่อนออกมากลับไปยังตำแหน่งเดิม พร้อมกับซ่อมแซมผนังช่องท้องให้แข็งแรงด้วยกล้องผ่าตัดขนาดเล็ก ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพภายในพื้นที่ช่องท้องส่วนได้อย่างชัดเจน ลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัดได้
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง แบ่งออกได้ 2 เทคนิค ได้แก่
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ผ่านชั้นก่อนเข้าช่องท้อง
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง เข้าช่องท้อง
ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก โดยอยู่ที่ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- พักฟื้นไม่นาน นอนโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
- โอกาสเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย
- เสียเลือดในระหว่างการผ่าตัดน้อยกว่า
- เนื่องจากแผลผ่าตัดเล็กและเสียเลือดน้อย จึงลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้
- หากเป็นไส้เลื่อนที่ช่องท้องหรือขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ก็สามารถผ่าตัดซ่อมแซมได้ในแผลเดียว ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ
ข้อเสียของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- มีค่าใช้จ่ายสูง จึงอาจเป็นข้อจำกัดในการผ่าตัดเพื่อรักษาในผู้เข้ารับบริการบางท่านได้
ผ่าตัดไส้เลื่อนควรดมยาสลบหรือไม่ดมยาสลบดี?
การผ่าตัดไส้เลื่อนในปัจจุบันยังสามารถเลือกได้อีก 2 ตัวเลือก คือ
- ผ่าตัดแบบดมยาสลบ
- ผ่าตัดแบบไม่ดมยาสลบ
หากผู้เข้ารับบริการไม่ต้องการดมยาสลบ แพทย์ก็จะเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนผ่าตัด ซึ่งจัดเป็นแนวทางการผ่าตัดไส้เลื่อนอีกรูปแบบที่น่าสนใจและปลอดภัยสูง
เพราะการไม่รับยาสลบเข้าร่างกายจะช่วยให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลดต่ำลงจนแทบไม่มีความเสี่ยงเลย นอกจากนี้ยังทำให้ไม่เกิดอาการข้างเคียงจากยาสลบ เช่น อาการมึนเบลอ คลื่นไส้อาเจียน ส่งผลให้ผู้เข้ารับบริการสามารถช่วยเหลือตนเองได้แทบจะทันทีหลังผ่าตัด และอาจเดินทางกลับบ้านได้ทันทีหลังผ่าตัดด้วย
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน
ก่อนเข้ารับบริการผ่าตัดไส้เลื่อน ผู้เข้ารับบริการจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- พูดคุยเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดที่จะใช้รักษาโรคไส้เลื่อนกับแพทย์อย่างละเอียดเสียก่อน
- แจ้งโรคประจำตัว ยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า เพราะอาจต้องมีการงดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนผ่าตัด เช่น ยากลุ่มที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด
- แจ้งประวัติการแพ้ยาทุกชนิดให้แพทย์ทราบ
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าก่อนผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง
- อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดก่อนผ่าตัด
- พาญาติมาเฝ้าไข้ในช่วงที่นอนพักฟื้นหลังผ่าตัดด้วย
- ลางานล่วงหน้า 3-7 วัน เพื่อเผื่อเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดด้วย
อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น หากแพทย์ผู้ดูแลมีคำแนะนำอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อน
กระบวนการผ่าตัดไส้เลื่อนจะแตกต่างกันไปตามเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้ โดยขั้นตอนหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัด อาจมีดังนี้
- เริ่มต้นจากแพทย์ให้ยาชาและยาสลบกับผู้เข้ารับการผ่าตัด
- หลังจากนั้นแพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบ
- เมื่อเห็นลำไส้ส่วนที่เลื่อนออกมาแล้ว แพทย์ก็จะตัดถุงลำไส้ส่วนนั้นออกแล้วเย็บปิดใหม่ หรือดันถุงลำไส้กลับคืนสู่ช่องท้อง ขึ้นอยู่กับลักษณะของลำไส้ที่เลื่อนออกมา
- จากนั้นแพทย์จะเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้องที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนให้แข็งแรงขึ้น ด้วยวัสดุตาข่ายหรือแผ่นสังเคราะห์ (Mesh graft) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จากนั้นห้ามเลือด แล้วเย็บปิดแผล
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อน
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดความเสี่ยงหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยการดูแลตัวเองหลักๆ อาจมีดังนี้
- งดเบ่งอุจจาระและปัสสาวะแรงๆ
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดอาการเจ็บที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น โรคไข้หวัด ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน โรคท้องผูก
- งดยกของหนักหลังการผ่าตัดประมาณ 3 เดือนหลังผ่าตัด
- พักผ่อนให้มากๆ และงดทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ เพื่อให้แผลไม่กระทบกระเทือนและฟื้นตัวได้เร็ว
- รักษาสุขอนามัยของแผลให้สะอาด อย่าให้แผลโดนน้ำจนกว่าจะถึงนัดตัดไหมที่แผล
- กินยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้
นอกจากนี้ยังควรปรึกษากับแพทย์ถึงระยะเวลาพักฟื้นที่เหมาะสมด้วย เพราะระยะเวลาอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน จะได้เลือกวันลางานได้อย่างเหมาะสม
ความเสี่ยงของการผ่าตัดไส้เลื่อน
แม้จะมีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย แต่การผ่าตัดไส้เลื่อนก็ยังสามารถก่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัดได้ เช่น
- แผลผ่าตัดติดเชื้อหรือฉีกขาด
- เส้นประสาทได้รับความเสียหาย ทำให้เกิดอาการชาบริเวณแผลหรืออวัยวะใกล้เคียง
- อาการปวดแผลเรื้อรัง
- อาการแผลบวมและมีรอยช้ำ
- อาการท้องผูก
- เป็นไส้เลื่อนซ้ำ โดยอาจเป็นซ้ำที่ตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งตรงข้ามกับแผลผ่าตัด
หากรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดติดตามอาการทุกครั้ง ความเสี่ยงติดเชื้อก็จะน้อยลงมาก
แต่หากพบอาการเหล่านี้หลังจากการผ่าตัด ผู้เข้ารับบริการควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยทันที เพราะภาวะแทรกซ้อนบางอย่างจากการผ่าตัดไส้เลื่อน หากปล่อยทิ้งเอาไว้ ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ผ่าตัดไส้เลื่อนพักฟื้นกี่วัน?
หลังจากผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการต่ออีกสักพัก แต่ระยะเวลาจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้ และการฟื้นตัวของร่างกายหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดไส้เลื่อนโดยเทคนิคเปิดหน้าท้อง จะใช้เวลาพักฟื้น 2-3 สัปดาห์ โดยนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-5 คืน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
ส่วนการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยเทคนิคส่องกล้อง จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-5 วัน โดยนอนโรงพยาบาลประมาณ 1-3 คืน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์ก็จะให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ไม่ใส่กางเกงในแล้วเป็นไส้เลื่อนจริงไหม?
การไม่ใส่กางเกงในไม่ได้มีผลทำให้เป็นไส้เลื่อน เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่หลายคนบอกว่าหากไม่ใส่กางเกงในแล้วจะเป็นไส้เลื่อนจึง “ไม่จริง” และไม่ใช่แค่ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นไส้เลื่อนได้ แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน
ไส้เลื่อนเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ยกของหนัก ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก ไอเรื้อรัง และอื่นๆ เพราะทำให้ความดันในช่องท้องสูง รวมถึงอาจมีปัจจัยเกี่ยวกับพังผืดผนังหน้าท้องหย่อนยานร่วมด้วย
โดยสรุปแล้ว โรคไส้เลื่อนอาจดูเป็นโรคไกลตัวที่หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ แต่ก็จัดเป็นโรคที่อันตรายและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพได้หลายอย่าง นอกจากนี้ยังเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกายที่ยากจะหลบเลี่ยงได้ เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก ความบกพร่องของกล้ามเนื้อในช่องท้อง
การหมั่นสังเกตตัวเองอยู่บ่อยๆ ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างระมัดระวัง ร่วมกับไปตรวจสุขภาพอยู่เสมอ จัดเป็นตัวช่วยที่จะสามารถลดโอกาสเป็นโรคไส้เลื่อนไม่ให้เกิดขึ้นกับคุณได้