โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นชนิดของโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงทั่วโลก
ข้อมูลสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า มีผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ 13,000 คนต่อปี หรือ 35 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในช่วงวัยที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม แล้วเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมให้หายขาดได้
สารบัญ
- การตรวจมะเร็งเต้านม คืออะไร?
- การตรวจมะเร็งเต้านม สำคัญอย่างไร?
- การตรวจมะเร็งเต้านม มีกี่วิธี?
- ใครที่ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม?
- ควรตรวจมะเร็งเต้านมบ่อยแค่ไหน?
- อาการแบบไหนควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม?
- การเตรียมตัวก่อนไปตรวจมะเร็งเต้านม
- ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร?
- การดูแลตนเองหลังตรวจมะเร็งเต้านม
การตรวจมะเร็งเต้านม คืออะไร?
การตรวจมะเร็งเต้านม คือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ทำได้หลายวิธี เช่น การคลำ การตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตรวจแมมโมแกรม นิยมตรวจในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะโรคมะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 100 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม
การตรวจมะเร็งเต้านม สำคัญอย่างไร?
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีความสำคัญมาก เพราะโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ โดยพญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลในงานกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมในสตรีไทยไว้ว่า
“มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะหากรักษาเร็วตั้งแต่แรกเริ่มโอกาสหายขาดจะยิ่งสูง โดยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 คือก้อนมะเร็งยังมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง โอกาสหายขาดสูงถึง 98%
ระยะที่ 2-3 คือระยะลุกลามเฉพาะที่ ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 เซนติเมตร แพร่กระจายมายังบริเวณต่อมน้ำเหลืองแล้ว โอกาสหายขาดอยู่ที่ 84%
ส่วนมะเร็งระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายหรือระยะสุดท้าย ที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกายแล้ว โอกาสหายขาดมีเพียง 24%”
ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย โดยสามารถเริ่มเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และตรวจแมมโมแกรมได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
การตรวจมะเร็งเต้านม มีกี่วิธี?
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มจากการตรวจเต้านมโดยแพทย์ การตรวจอัลตราซาวด์ และการตรวจแมมโมแกรมก่อน หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นเนื้อร้าย จึงจะส่งตรวจเชิงลึกต่อไป
1.การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ควรตรวจเต้านมในวันที่ 7-10 วัน หลังจากที่มีประจำเดือนวันแรก เนื่องจากเต้านมจะอ่อนตัว สามารถคลำพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย
ในส่วนของผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ควรกำหนดวันตรวจในแต่ละเดือน เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ ทำให้สามารถตรวจเต้านมได้ทุกเดือน
วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- การดู ให้ยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนแนบลำตัวทั้งสองข้าง ตามด้วยยกมือเท้าสะเอว และยกมือทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ โดยแต่ละท่าให้สังเกตลักษณะของเต้านมแต่ละส่วนด้วย
- หัวนม ควรอยู่ในระดับเดียวกัน มีสีผิวเหมือนกัน รูปร่างคล้ายกัน ไม่ถูกดึงรั้งให้บุ๋มลงไป ไม่ควรมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม ไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
- ปานนม ควรมีผิวเนียนและสีเหมือนกัน ไม่ควรมีรอยนูน รอยบุ๋ม แผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
- ผิวเต้านม ควรมีผิวเนียนและสีเหมือนกัน ไม่ควรมีผิวบวมหนา ผิวตึงบาง ผิวเปลือกส้ม รูขุมขนใหญ่ รอยนูน รอยบุ๋ม สีผิวแดงคล้ำ หรือรอยแผลแตกทะลุออกมาที่ผิวหนัง
- ระดับและขนาดของเต้านม ควรอยู่ในระดับเดียวกัน มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน ไม่ควรมีการดึงรั้งหรือห้อยลงมา
- การคลำ จะทำหลังจากที่ดูลักษณะของเต้านมด้วยตาเปล่าแล้ว
- คลำบริเวณรักแร้และเหนือกระดูกไหปลาร้าทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่ โดยให้นั่งตัวตรง วางแขนข้างที่ตรวจบนโต๊ะ แล้วใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ของแขนอีกข้างคลำลึกเข้าไปในรักแร้ข้างที่ตรวจ และบริเวณไหปลาร้า ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง
- คลำเต้านม ทำได้ทั้งท่านั่งและท่านอน โดยให้ยกแขนข้างที่จะตรวจเหนือศรีษะ แล้วใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ของแขนอีกข้าง คลำดูให้ทั่วบริเวณเต้านม สามารถกดลงบนผิวหนังเบาๆ ได้
- บีบหัวนม เพื่อดูว่ามีสารคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่
2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์
การตรวจเต้านมโดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจด้วยการคลำเหมือนกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง แต่แพทย์จะมีความชำนาญมากกว่า สามารถตรวจได้แม่นยำกว่าเราตรวจด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมโดยแพทย์มักเป็นขั้นตอนแรกของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม หากแพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดปกติ จึงจะส่งตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือตรวจแมมโมแกรมต่อไป
3.การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Ultrasound)
การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม คลื่นเสียงจะกระทบกลับเนื้อเยื่อต่างๆ แล้วสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจ แปลงเป็นสัญญาณภาพบนจอมอนิเตอร์ ช่วยให้แพทย์สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้
การตรวจอัลตราซาวด์เต้านมสามารถวินิจฉัยก้อนเนื้อที่พบว่า เป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ และสามารถดูลักษณะของก้อนเนื้อได้ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวด์เต้านมเป็นการตรวจที่ไม่ใช้รังสี มีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมาก ผู้หญิงที่อายุน้อย และหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถตรวจหาหินปูน หรือมะเร็งเต้านมขนาดเล็กมากได้เหมือนการตรวจแมมโมแกรม
4.การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายการตรวจเอกซเรย์ แต่มีปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือบีบเต้านมเข้าหากันเพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่ออก แล้วทำการถ่ายรูปเต้านมจากด้านบนและด้านข้าง
การตรวจแมมโมแกรมแบบเก่าจะแสดงผลลงฟิล์มเอกซเรย์ปกติ แต่ในปัจจุบัน นิยมตรวจด้วยเครื่องดิจิตัลแมมโมแกรม เพราะแสดงผลในจอมอนิเตอร์ได้ทันที ได้ภาพที่คมชัดมากกว่า ช่วยลดเวลาในการตรวจ สามารถถ่ายภาพได้ต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนฟิล์มและล้างฟิล์ม
การตรวจแมมโมแกรม สามารถตรวจพบจุดหินปูนและมะเร็งเต้านมขนาดเล็กที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการคลำ หรืออัลตราซาวด์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก แต่ไม่สามารถวินิจฉัยก้อนที่พบได้ว่า เป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อเหมือนการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม
5.การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การตรวจเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือที่เรียกว่า “Breast MRI” มักใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม ในกรณีที่ผลตรวจอัลตราซาวด์และผลตรวจแมมโมแกรมไม่ชัดเจน
MRI จะสร้างภาพ 3 มิติเสมือนจริงของอวัยวะภายในที่มีความละเอียดสูงมาก โดยอาศัยการทำปฏิกิริยาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่วิทยุ
การตรวจ Breast MRI ไม่มีการใช้รังสีที่เป็นอันตรายต่อผู้เข้ารับการตรวจ จึงเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง แต่จะมีข้อจำกัดในผู้ที่มีการฝังอุปกรณ์โลหะภายในร่างกาย
6.การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ หรือใช้เข็มขนาดใหญ่ตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือเครื่องเอกซเรย์ช่วยชี้ตำแหน่งรอยโรค
แพทย์จะนำผลตรวจชิ้นเนื้อที่ได้มาประเมินร่วมกับผลตรวจร่างกาย ผลตรวจอัลตราซาวด์ และผลตรวจแมมโมแกรม เพื่อวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ใครที่ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม?
ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์จะสอนวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับมาตรวจเต้านมด้วยตนเองที่บ้านได้
ในส่วนของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ หรือตรวจแมมโมแกรม จะเริ่มตรวจในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ให้ต้องตรวจด้วยเครื่องดังกล่าว เช่น ครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือคลำเจอก้อนเนื้อ เป็นต้น
ควรตรวจมะเร็งเต้านมบ่อยแค่ไหน?
ความถี่ในการตรวจมะเร็งเต้านมจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ หรือบุคลาการทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนทุก 3 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40-69 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ หรือบุคลาการทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝน ทุก 1 ปี และตรวจแมมโมแกรม ทุก 1-2 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ความถี่ในการเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
อาการแบบไหนควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม?
นอกจากเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในช่วงวัยที่เหมาะสมแล้ว หากตรวจพบสิ่งผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอนัดหมาย
- คลำเจอก้อนผิดปกติ อาจกลิ้งได้ ยึดติดกับเนื้อนม หรือดึงรั้งผิวหนัง
- คลำได้ก้อนที่รักแร้ หรือเหนือไหปลาร้า
- หัวนมถูกดึงรั้งผิดปกติ
- มีเลือด หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม
- มีแผลผิวหัวนมถลอก
- ผิวหนังที่เต้านม หรือปานนมมีรอยบุ๋ม รอยนูน อักเสบ บวม แดง หรือมีผิวลักษณะเหมือนเปลือกส้ม หรือเป็นแผลฉีกขาด มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหล
- มีแผลที่หายยากของเต้านม หรือหัวนม
- เต้านมทั้ง 2 ข้าง มีขนาดหรือรูปร่างแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การเตรียมตัวก่อนไปตรวจมะเร็งเต้านม
- ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนเข้ารับการตรวจ
- สวมใส่เสื้อและชุดชั้นในที่ง่ายต่อการถอด
- งดทาโลชั่น แป้ง หรือครีมระงับกลิ่นกาย บริเวณรักแร้และเต้านม
- หากมีโรคประจำตัว หรือกำลังรับประทานยารักษาโรค วิตามิน หรืออาหารเสริม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- หลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในช่วงใกล้มีประจำเดือน หรือระหว่างที่มีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมคัดตึง จะทำให้เจ็บกว่าปกติ แนะนำให้ตรวจในช่วง 1 สัปดาห์หลังมีประจำเดือน
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร?
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านมจะแตกต่างกันไปในแต่ละโปรแกรมตรวจสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านม ดังนี้
- พยาบาลพาไปตรวจวัดความดันโลหิต และชั่งน้ำหนักส่วนสูงก่อน
- แพทย์ซักประวัติสุขภาพ และตรวจเต้านมด้วยการคลำ
- แพทย์ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม โดยการทาเจลใสเพื่อเป็นสื่อนำ แล้วใช้หัวเครื่องอัลตราซาวด์วนดูบริเวณเต้านมทั้งสองข้าง
- แพทย์ตรวจแมมโมแกรม โดยให้วางเต้านมบนเครื่องตรวจทีละข้าง ตัวเครื่องจะค่อยๆ กดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่ออก แล้วทำการถ่ายภาพรังสี
- แพทย์อ่านผลตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจฟัง หากตรวจพบเจอสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อ อาจแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการณ์ต่อไป
การดูแลตนเองหลังตรวจมะเร็งเต้านม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ปกติแล้วจะไม่มีผลข้างเคียง ไม่จำเป็นต้องพักฟื้น หลังจากตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม โดยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน และเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ตามวันเวลานัดหมาย