เอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis) คือโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง โดยปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะบวมและหนาตัวขึ้นจนไปกดเบียดเส้นเอ็น ทำให้ขณะที่เคลื่อนไหวมือ ข้อมือ หรือนิ้วมือจะรู้สึกเจ็บ โดยตำแหน่งที่ปวดมักเป็นบริเวณข้อมือด้านข้างหัวแม่มือ หากลองคลำดูจะพบว่าเส้นเอ็นบริเวณนั้นบวมนูนขึ้นมา
สารบัญ
สาเหตุของโรคเอ็นข้อมืออักเสบคืออะไร?
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นเสื่อมสภาพ โรคประจำตัว เช่น ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบหรือบาดเจ็บที่เส้นเอ็นได้ง่ายขึ้น
แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือการใช้งานข้อมือไม่เหมาะสม เช่น ใช้งานข้อมือหนัก ในท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
เช็กสัญญาณเอ็นข้อมืออักเสบ
อาการเบื้องต้นของโรคเอ็นข้อมืออักเสบสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้
- รู้สึกเจ็บบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ และเจ็บมากขึ้นหากมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเมื่อขยับนิ้วหัวแม่มือมาที่กลางฝ่ามือ
- หากลองจับข้อมือด้านหลังฝั่งนิ้วโป้งจะรู้สึกว่าบวมนูน ผิวหนังร้อน แดง กดแล้วเจ็บ
- หยิบจับสิ่งของลำบาก กำมือได้ไม่สุด
- ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะรู้สึกปวดร้าวไปตลอดนิ้วหัวแม่มือและแขนส่วนปลาย
- รู้สึกปวดมากขึ้นช่วงที่เพิ่งตื่นนอน
- บางรายอาจมีอาการชาลามไปที่แขน หรือแสบร้อนบริเวณนิ้วหัวแม่มือร่วมด้วย
กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบ
โรคเอ็นข้อมืออักเสบพบมากในผู้หญิงอายุ 30-50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้งานข้อมือค่อนข้างหนัก เช่น ทำงานบ้าน กวาด ถู ซักผ้า บิดผ้า อุ้มลูก เป็นต้น แต่นอกจากกลุ่มนี้แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เสี่ยงเกิดโรคเอ็นข้อมืออักเสบได้เช่นกัน ดังนี้
- พนักงานบริษัท ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ
- นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตในการเรียน
- แม่ครัว ช่างไม้ ช่างฝีมือ ช่างทำผม
- บุคคลทั่วไปที่ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นประจำ
โรคเอ็นข้อมืออักเสบรักษาอย่างไร
การรักษาโรคเอ็นข้อมืออักเสบนั้นต้องเริ่มจากการพักใช้งานข้อมือ สวมอุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อไม่ให้อาการอักเสบลุกลามมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์ โดยแบ่งการรักษาได้ดังนี้
- การใช้ยา สำหรับผู้ที่มีอาการเอ็นข้อมืออักเสบ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรียรอยด์ เพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็น และหากมีอาการปวดมาก อาจจ่ายยาแก้ปวดร่วมด้วย
- การทำกายภาพบำบัด อีกหนึ่งวิธีรักษาที่บรรเทาอาการได้คือการกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะแนะนำให้แช่น้ำอุ่น วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที หลังจากแช่น้ำอุ่นเสร็จจึงทำกายภาพบำบัด
เพื่อลดปวด ลดอักเสบ ทำให้เอ็นเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
- การฉีดยาสเตียรอยด์ อีกหนึ่งวิธีที่สามารถระงับอาการเจ็บปวดได้ทันที คือการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ แต่วิธีนี้ให้ผลลัพธ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากยาหมดฤทธ์ก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ และไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะหากฉีดแล้วยังมีอาการอยู่ แสดงว่าอาการค่อนข้างรุนแรง ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยา แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีรักษาอื่นๆ แทน
- การผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีตามที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเส้นเอ็น เพื่อลดการกดทับและเสียดสีของเส้นเอ็น โดยเป็นการผ่าตัดเล็ก แผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 10-20 นาที อาการจะดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ทันที แล้วสามารถใช้งานมือได้ตามปกติ
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากใช้งานมือไม่เหมาะสม ดังนั้นหากเริ่มมีอาการเจ็บหรือปวดมือควรลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปรึกษาแพทย์ หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน