เช็กให้ชัวร์! คลำเต้านมเช็กมะเร็งโดยแพทย์

นอกจากการคลำสำรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธี 3 นิ้วสัมผัสที่สามารถทำได้เองแล้ว การเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ใช้เทคนิคเฉพาะในการคลำเต้านมก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากคุณกำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ความชำนาญของแพทย์จะช่วยให้รู้ผลแม่นยำและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

การตรวจเต้านมโดยแพทย์เฉพาะทาง

หลังจากที่คุณเจอความผิดปกติและเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง (Clinical Breast Examination: CBE) แล้ว แพทย์จะเริ่มตรวจเต้านมโดยยังไม่ได้ใช้อุปกรณ์ใดๆ แต่จะใช้ความชำนาญตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งจะตรวจพบได้อย่างแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยตัวเอง

ขั้นตอนการตรวจ

ในการตรวจนี้แพทย์จะยังไม่ได้ใช้เครื่องมือพิเศษใดๆ และใช้วิธีตรวจคล้ายกับการตรวจด้วยตัวเอง ดังนี้

  • ซักประวัติและอาการที่ทำให้มาพบแพทย์ อาการผิดปกติอื่นๆ รวมถึงประเมินปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
  • เริ่มตรวจดูเต้านมและหัวนมขณะที่คุณกำลังนั่ง รวมถึงคลำตรวจต่อมน้ำเหลืองทั้งบริเวณรักแร้ เหนือและใต้ไหปลาร้า
  • จากนั้นจะให้คุณนอนลงและคลำเต้านมโดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้งสองข้าง
  • แพทย์จะบีบหัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่

สิ่งที่แพทย์มองหาคือการเปลี่ยนแปลงของเต้านม ทั้งรูปร่าง สีสัน ขนาด รอยผิวที่หนาบริเวณเต้านม อุณหภูมิและผิวสัมผัสของเต้านมทั้งสองข้าง รวมถึงผื่น ก้อนเนื้อ และของเหลวที่อาจไหลออกมา

ปฏิบัติตัวอย่างไรหลังตรวจเต้านม?

อย่าเพิ่งตกใจหากแพทย์ตรวจคลำแล้วพบก้อนเนื้อหรือความผิดปกติ เพราะก้อนที่พบในเต้านมอาจไม่ใช่มะเร็ง แต่เป็นก้อนเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (fibroadenoma) ซีสต์ที่เต้านม (fibrocystic breast disease) เนื้องอกในท่อน้ำนม (intraductal papilloma) หรือเซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (mammary fat necrosis)

ดังนั้น จึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่อไป ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์เพิ่มเติม

Scroll to Top