การใช้งานที่เข่าหนักเกินไป เช่น การเล่นกีฬา ออกกำลังกายหนักๆ หรือประสบอุบัติเหตุ อาจทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าหรือเอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ ถ้าเอ็นไขว้หน้าเข่าหรือเอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บ จะมีอาการ หรือสัญญาณเตือนอย่างไร และหากไปพบคุณหมอจะมีกระบวนการตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง เราไปหาคำตอบกัน
สารบัญ
1. มีเสียงลั่นมาจากข้อเข่า
เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นไม่ว่าจะเอ็นไขว้หน้าหรือเอ็นไขว้หลังเข่า ผู้ป่วยอาจจะได้ยินเสียงป๊อบ (Pop) ดังออกมาจากหัวเข่าระหว่างการเคลื่อนไหว โดยอาจได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น ขณะที่ข้อเข่าเกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบที่รุนแรงขึ้น
นอกจากระหว่างที่ได้ยินเสียง ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างดีดอยู่ด้านในข้อเข่าได้อีกด้วย
2. มีอาการบวมและปวดเข่า
เส้นเอ็นที่ฉีกขาด อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อและของเหลวภายในข้อเข่าเกิดการอักเสบจนบวม ทำให้ผิวหนังมีสีแดงเข้มขึ้น นอกจากนี้ยังมักมาพร้อมกับอาการปวด หรืออาการเจ็บที่ข้อเข่าด้วย
ทั้งนี้ความรู้สึกปวด บวม แดงนี้ อาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของเส้นเอ็นไขว้เข่าของผู้ป่วยแต่ละราย
3. สมรรถภาพการเดินลดลง
เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าเข่าและเอ็นไขว้หลังเข่า มีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งให้เคลื่อนไหวอย่างสะดวกและมั่นคง ดังนั้นเมื่อเส้นเอ็นส่วนนี้มีการบาดเจ็บ การเคลื่อนไหวร่างกายก็อาจลำบากขึ้นด้วย โดยกรณีที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เดินลงน้ำหนักไม่ได้
- เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในท่าที่ต้องเคลื่อนไหวเข่า งอเข่า หรือลงน้ำหนักเข่าไม่ได้
- เดินกะเผลก ไม่สามารถเดินได้อย่างมั่นคง
- ขึ้นลงบันไดได้ยากลำบาก
4. ความยืดหยุ่นลดลง
เมื่อการอักเสบรุนแรงขึ้น ข้อเข่าของผู้ป่วยจะมีโอกาสติด ฝืด ตึง เคลื่อนไหวร่างกายได้ยากกว่าเดิม โดยเฉพาะในตอนเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อผู้ป่วยเริ่มก้าวเดินมากขึ้น อาการก็จะค่อยๆ ลดลง
เมื่อไรที่เริ่มมีอาการข้อเข่าติด ฝืด หรือตึง เคลื่อนไหวลำบาก ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้จัดเป็นสัญญาณของภาวะอักเสบขั้นรุนแรง และเป็นอาการเริ่มต้นของ โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในที่สุด
5. ข้อเข่าหลวม
อาการข้อเข่าหลวมเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเส้นเอ็นไขว้หน้า ไขว้หลัง มีการอักเสบขั้นรุนแรง โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนข้อเข่าไม่มีความมั่นคง คล้ายกับจะเลื่อนหลุดได้ง่ายกว่าปกติ บางรายอาจรู้สึกเหมือนเข่าจะพับหรือทรุดลง ทำให้เสี่ยงหกล้มได้ง่ายขึ้น
การวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าเข่า เอ็นไขว้หลังเข่าฉีก
หากคุณมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น แล้วไปพบแพทย์ กระบวนการตรวจวินิจฉัยการฉีกขาดที่เอ็นไขว้หน้าเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าเข่า มักมีด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะซักประวัติในเบื้องต้น ทั้งประวัติสุขภาพ การออกกำลังกาย อาชีพ หรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเสี่ยงทำให้เส้นเอ็นข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ จากนั้นจะตรวจดูข้อเข่าด้วยตาเปล่า
- การตรวจเอกซเรย์ เป็นการตรวจที่เน้นหาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นบริเวณกระดูกข้อเข่าหรือกระดูกขา เนื่องจากภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่า หรือเอ็นไขว้หลังเข่าฉีกมักมาพร้อมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระดูกด้วย
- การตรวจ MRI หรือการสแกนข้อเข่าด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก ช่วยให้แพทย์มองเห็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าเข่าได้อย่างละเอียดกว่าการเอกซเรย์ รวมถึงมองเห็นเนื้อเยื่อรอบๆ เส้นเอ็นที่อาจได้รับความเสียหายไปด้วย
ถ้าเริ่มพบสัญญาณเสี่ยงตามที่ว่ามานี้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะถ้าอาการไม่รุนแรงนัก ก็จะมีตัวเลือกในการรักษามากขึ้น และอาการเจ็บปวด หรืออาการข้างเคียงก็มีแนวโน้มจะลดลงด้วย
เข่าบวมแบบนี้ เจ็บเข่าแบบนี้ ใช่เอ็นไขว้หน้าหรือเอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย