ประกันสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งบริการที่หลายคนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะจะช่วยจำกัดความเสี่ยง ควบคุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ ทำให้ผู้ป่วยหมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และมีทางเลือกในการรักษาพยาบาลที่ดีและเหมาะสมกับโรคมากขึ้น
แต่เงื่อนไขความคุ้มครองของแต่ละกรมธรรม์ก็แตกต่างกัน ผู้เอาประกันต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ว่าครอบคลุมส่วนใดบ้าง วงเงินเท่าไร เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ความคุ้มครองเหล่านี้จะระบุอยู่บนหน้าบัตรประกันสุขภาพ
แต่หลายคนก็อาจจะสับสนว่า ความคุ้มครองแต่ละรูปแบบคืออะไร? IPD หรือ OPD หรือ ER ACC.หมายความว่าอะไร? บทความนี้จะมาบอกข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งวิธีเช็กความคุ้มครองให้รู้โดยละเอียด
สารบัญ
ประกันสุขภาพคืออะไร?
ความหมายของ ประกันสุขภาพ ตามที่สมาคมประกันวินาสภัยให้คำนิยามคือ การประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้แก่ผู้เอาประกันภัย
หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าเราเจ็บป่วย ไม่ว่าจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บหรือด้วยอุบัติเหตุ แล้วเรามีประกันสุขภาพ บริษัทประกัน จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนเรานั่นเอง
แต่ประกันสุขภาพของแต่ละบริษัท แต่ละกรมธรรม์ ก็จะมีความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป ทั้งในแง่วงเงินว่าจะจ่ายสูงสุดเท่าไหร่ คุ้มครอง หรือไม่คุ้มครองโรคอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอย่างไร ฯลฯ
ฉะนั้นก่อนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ ต้องศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองโดยละเอียด
ประกันสุขภาพมีกี่รูปแบบ?
ปัจจุบันประกันสุขภาพ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล (Individual Health Insurance)
คือ ประกันสุขภาพที่คุ้มครองผู้เอาประกันรายบุคคล จุดเด่นคือ สามารถเลือกแผนความคุ้มครองให้เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยค่าเบี้ยประกันจะคำนวณตามเพศและอายุของผู้เอาประกัน และสามารถใช้ลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ด้วย
2. ประกันภัยสุขภาพกลุ่ม (Group Health Insurance)
คือ ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองบุคคลจำนวนมากภายใต้กรมธรรม์ฉบับเดียวกัน เป็นประกันสุขภาพที่บริษัทหรือองค์กรนิยมทำให้พนักงาน เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการค่ารักษาพยาบาล จุดเด่น คือ ค่าเบี้ยประกันต่อคนค่อนข้างต่ำ
บัตรประกันสุขภาพ บอกอะไรเราบ้าง?
เมื่อตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพส่วนบุคคล หรือได้รับบัตรประกันสุขภาพแบบกลุ่มจากบริษัท เราจะได้รับบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้เอาประกันไว้ รวมทั้งระบุวงเงินความคุ้มครองต่างๆ เอาไว้ด้วย
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ข้อมูล หรือ อักษรย่อต่างๆ ที่ปรากฎบนหน้าบัตรหมายความว่าอะไร เราจะมาบอกวิธีเช็กความคุ้มครอง และวงเงินง่ายๆ ให้ทราบกัน
- เลขที่กรมธรรม์
คือ เลขที่แต่ละบริษัทประกัน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเลขอ้างอิงของแต่ละกรมธรรม์ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูล ค้นหา และใช้งาน ทั้งภายในบริษัทเองและสื่อสารกับผู้เอาประกันภัย โดยทุกครั้งที่ซื้อประกัน จะได้เลขกรมธรรม์ที่ผูกติดกับประกันนั้นๆ มาด้วยเสมอ
- ชื่อ – สกุล ของผู้เอาประกันภัย
ใช้สำหรับระบุตัวตนผู้เอาประกันภัย เมื่อผู้ป่วยแสงบัตรประกันสุขภาพที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่าข้อมูลตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วยหรือไม่
- วันคุ้มครอง
ใช้ระบุช่วงเวลาที่กรมธรรม์คุ้มครองผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันทราบว่าประกันจะคุ้มครองถึงเมื่อไร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะได้ตรวจสอบความคุ้มครองได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องสอบถามกับบริษัทประกัน
- IPD
IPD หรือ In-Patient Department หมายถึง การรักษาในฐานะผู้ป่วยใน หรือ การรักษาที่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือสังเกตอาการเป็นระยะเวลามากกว่า 6 ชั่วโมงเป็นต้นไป ตามคำสั่งแพทย์ โดยบนหน้าบัตรจะระบุวงเงินการรักษาในฐานะผู้ป่วยในเอาไว้ เช่น 2,000 ต่อวัน เป็นต้น
บางครั้งวงเงินนี้อาจครอบคลุมเรื่อง ค่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์ด้วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประกันนั้นๆ
- OPD
OPD หรือ Out-Patient Department หมายถึง การรักษาในฐานะผู้ป่วยนอก หรือ การรักษาที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อตรวจรักษาและจ่ายยาเรียบร้อย สามารถกลับบ้านได้เลย หรือรอสังเกตอาการน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง โดยบนหน้าบัตรจะระบุวงเงินการรักษาในฐานะผู้ป่วยนอกเอาไว้ เช่น 2,000 ต่อวัน เป็นต้น
- ER ACC. (xx hrs.)
หมายถึง การรักษาเนื่องจากอุบัติเหตุฉุกเฉิน โดยส่วนใหญ่จะมีระยะเวลากำหนด เช่น ER ACC. (72 hrs.) หมายถึง ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่วงเงินอุบัติเหตุฉุกเฉินนี้ จะเป็นวงเงินต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้ง เช่น วงเงินอุบัติเหตุฉุกเฉิน 6,000 บาท สมมติผู้ป่วยถูกสุนัขกัด เข้ารับการรักษาครั้งแรก เป็นเงิน 4,000 บาท แต่จะต้องไปทำแผลอีก 5 วัน วันละ 1,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 9,000 บาท
ประกันจะคุ้มครองค่ารักษาเพียง 6,000 บาทเท่านั้น ส่วนเกิน 3,000 บาท ผู้ป่วยจะต้องชำระเพิ่มเติม เพราะถือเป็นการรักษาต่อเนื่องจากอุบัติเหตุเดียวกัน
แต่เช่นเดียวกัน ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์ ว่าระบุรายละเอียดอย่างไร
นอกจากนี้หน้าบัตรประกันสุขภาพยังอาจระบุรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น เช่น
- ค่าห้อง ค่าอาหาร (ต่อวัน)
- ค่าบริการทั่วไป
- ค่าแพทย์ผ่าตัด
- ค่าแพทย์เยี่ยมไข้
- ค่าทำฟัน (ถ้ามี)
ข้อมูลเหล่านี้ ผู้เอาประกันจะต้องศึกษาข้อมูล หรือสอบถามกับตัวแทนหรือบริษัทประกันให้ละเอียด ว่าวงเงินที่ระบุนี้ มีการครอบคลุมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกัน
เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นนี้แล้ว หากเกิดการเจ็บป่วยในอนาคต น่าจะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการใช้สิทธิประกันสุขภาพ
แต่หากคุณจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหรือผ่าตัด และจองบริการผ่าตัดผ่าน HDcare แล้วมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสุขภาพ ว่าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมหรือเปล่า
ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมช่วยคุณเช็กสิทธิความคุ้มครองและวงเงินต่างๆ กับบริษัทประกัน เพื่อให้คุณรู้สึกอุ่นใจที่สุด และพร้อมที่สุดสำหรับการผ่าตัดครั้งสำคัญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกเลย