เสียงเป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเพศชาย และเพศหญิง ซึ่ง ผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender women) หลายคน ยังคงมีเสียงที่ทุ้มต่ำเหมือนผู้ชาย แม้ว่าจะผ่านการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงมาแล้วก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้หญิงข้ามเพศบางรายรู้สึกไม่มั่นใจขณะพูด หรือออกเสียง และจำเป็นต้องดัดเสียงให้แหลมสูงอยู่เสมอ
สำหรับผู้หญิงข้ามเพศคนใดที่รู้สึกไม่มั่นใจในเสียงของตนเอง และกำลังมองหาวิธีแก้ไข เราจะพาไปทำความรู้จักกับ “การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง” หนึ่งในกระบวนการแปลงเพศชายเป็นหญิง (MTF sex reassignment surgery) ที่จะช่วยให้ผู้เข้ารับการรักษามีเสียงสูงแหลมคล้ายผู้หญิงอย่างถาวร
สารบัญ
- ทำความรู้จักกับกลไกการออกเสียง
- การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากชายเป็นหญิง คืออะไร?
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง เป็นอย่างไร?
- หลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ต้องดูแลตนเองอย่างไร?
- หลังผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ทำไมต้องฝึกพูดกับนักอรรถบำบัด?
- ผลข้างเคียง หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง มีอะไรบ้าง?
- ผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ราคาเท่าไร ทำที่ไหนดี?
ทำความรู้จักกับกลไกการออกเสียง
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง เราควรทำความเข้าใจกลไกการออกเสียงในมนุษย์ก่อน
การออกเสียง หรือเปล่งเสียงนั้น เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร โดยกลไกการออกเสียง มีดังนี้
- เมื่อเราเริ่มพูด ลมหายใจออกจะผ่านออกจากปอดและหลอดลมไปยังเส้นเสียง 2 เส้น ทำให้กล้ามเนื้อของเส้นเสียงดึงเส้นเสียงทั้ง 2 เส้น เข้ามาชิดกัน
- ลมหายใจจากปอดนี้ จะทำให้เส้นเสียง 2 เส้น เปิด-ปิด อย่างเป็นจังหวะ และทำให้เกิดการสั่นพริ้ว
- ระดับความถี่ในการสั่นพริ้วของเส้นเสียง จะส่งผลต่อระดับความสูง-ต่ำของเสียง หากมีความถี่สูงเสียงก็จะสูง หากมีความต่ำเสียงก็จะทุ้ม
- เสียงที่เกิดจากการสั่นพริ้วของเส้นเสียงอย่างเดียวจะคล้ายกับเสียงปี่ มีแค่เสียงสูง และต่ำ
- เมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของอวัยวะช่องคอ และช่องปากร่วมด้วย ก็จะทำให้เสียงสูง-ต่ำนี้ กลายเป็นเสียงพูดขึ้นมา
โดยความยาวของเส้นเสียงจะส่งผลต่อระดับความถี่ของเส้นเสียงขณะพูด ซึ่งในผู้ชายและผู้หญิงมีระดับความยาวของเส้นเสียงไม่เท่ากัน ทำให้มีระดับเสียงที่ความแตกต่างกัน ดังนี้
- ผู้ชายมีสายเสียงยาวกว่าผู้หญิง ทำให้มีระดับความถี่ของการสั่นต่ำกว่า 200 เฮิร์ทซ์ ทำให้ผู้ชายมีเสียงที่ทุ้มต่ำกว่าผู้หญิง
- ผู้หญิงมีสายเสียงสั้นกว่าผู้ชาย มีระดับความถี่ของการสั่นที่ 200-250 เฮิร์ทซ์ ทำให้ผู้หญิงมีเสียงที่สูงแหลมกว่าผู้ชาย
การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากชายเป็นหญิง คืออะไร?
การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจากชายเป็นหญิง (Voice Feminization surgery) คือ การผ่าตัดปรับแต่งเส้นเสียง (Vocal fold) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีระดับเสียงที่สูงขึ้น
โดยแพทย์จะผ่าตัดเส้นเสียงให้สั้นลงด้วยวิธีการส่องกล้อง โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความสูง-ต่ำของเสียง ได้แก่
- ความยาวของเส้นเสียง (Length)
- แรงตึงของเส้นเสียง (Tension)
- มวลของเส้นเสียง (Mass)
ผลลัพธ์ของการผ่าตัดจะทำให้การสั่นของเส้นเสียงมีระดับความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น เทียบเท่ากับค่าความถี่พื้นฐานของเสียงผู้หญิง หรือประมาณ 200-250 เฮิร์ทซ์ ซึ่งส่งผลให้มีระดับเสียงที่สูงแหลมขึ้น
นอกจากการผ่าตัดเส้นเสียงโดยตรงแล้ว ยังมีอีกเทคนิคหนึ่ง คือการผ่าตัดกระดูกอ่อนคริคอยด์ (Cricoid Cartilage) และกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid Cartilage) ที่อยู่ในกล่องเสียง เพื่อทำให้เส้นเสียงตึงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความถี่ของการสั่นของเส้นเสียงได้
วิธีนี้มีข้อดีคือจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเส้นเสียง สามารถทำพร้อมกับการผ่าตัดกรอลูกกระเดือกได้เลย แต่จำเป็นต้องเปิดแผลที่บริเวณลำคอ และมีโอกาสที่เส้นเสียงจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อระยะเวลาผ่านไป
ด้วยความที่การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงมีหลายเทคนิค และแพทย์แต่ละคนมีความถนัดที่ต่างกัน ผู้ที่สนใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนผ่าตัด เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และเลือกรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมกับตนเอง
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป ระดับเสียง และลักษณะของเส้นเสียง และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
โดยหลังจากที่แพทย์ประเมินแล้วว่า สามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงได้ แพทย์จะนัดหมายวันผ่าตัด ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องเตรียมตัวตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- งดยาและอาหารที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) น้ำมันตับปลา อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- งดวิตามิน หรืออาหารเสริมที่มีผลต่อการบวมช้ำของแผล เช่น วิตามินเอ อี หรือน้ำมันตับปลา อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- หากมีโรคประจำตัว กำลังรับประทานยารักษาโรค หรือมีประวัติแพ้ยา จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
- งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงแผลไม่ดี และมีโอกาสทำให้แผลเกิดเนื้อตายได้
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง เป็นอย่างไร?
- ระงับความรู้สึก โดยใช้ยาสลบ
- แพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- ในกรณีที่ผ่าตัดเส้นเสียงจะใช้การผ่าตัดส่องกล้อง และเย็บแผลด้วยไหมไม่ละลาย (แต่ไม่จำเป็นต้องตัดไหม)
- ในกรณีที่ผ่าตัดเปลี่ยนเสียงด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกอ่อนคริคอยด์และกระดูกอ่อนไทรอยด์ในกล่องเสียง แพทย์จะเปิดแผลบริเวณรอยพับใต้คาง
- เมื่อผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้นอนพักสังเกตอาการ 1-2 ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติก็จะให้พักฟื้นต่อที่โรงพยาบาล 1 คืน หรือสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
หลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ต้องดูแลตนเองอย่างไร?
- งดใช้เสียงเด็ดขาด ในช่วง 7-10 วันแรกหลังการผ่าตัด
- ในวันที่ 3 หลังวันผ่าตัดเป็นต้นไป ควรดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อป้องกันการเกิดอาการคอแห้ง
- รับประทานยา และพ่นยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเกิดแผลเป็น
- รับประทานอาหารรสอ่อน ในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น อาหารไขมันสูง ผลไม้ที่มีกรดสูง อาหารหมักดอง น้ำสมสายชู หมากฝรั่ง น้ำอัดลม ช็อกโกแลต หรือกาแฟ ในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- เมื่อครบ 7-10 วันหลังผ่าตัด แพทย์จะนัดหมายให้เข้าไปตรวจดูกล่องเสียง และการทำงานของเส้นเสียง หากไม่มีอะไรผิดปกติ จะส่งให้ฝึกพูดและออกเสียงกับนักอรรถบำบัด
- แพทย์จะนัดตรวจติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน 6 ปี และ 1 ปี
หลังผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ทำไมต้องฝึกพูดกับนักอรรถบำบัด?
การฝึกออกเสียง และฝึกพูดกับนักอรรถบำบัดเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงแล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเสียง และกล่องเสียง ซึ่งในบางรายอาจส่งผลให้ออกเสียงไม่ เสียงแหบ หรือเสียงแย่กว่าเดิม
นักอรรถบำบัดจึงมีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูการออกเสียงให้กลับมาสมบูรณ์
โดยนักอรรถบำบัดจะฝึกให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถออกเสียง ควบคุมการเคลื่อนไหวของลิ้น การเน้นเสียง หรือการใช้ท่าทางของผู้หญิงอย่างเป็นระบบ
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถออกเสียงเหมือนผู้หญิงได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น
- ในช่วง 7 วัน ถึง 1 เดือนแรก หลังผ่าตัด เริ่มหัดออกเสียงทีละ 1-2 คำ
- ในช่วง 1-2 เดือน หลังผ่าตัด เริ่มฝึกพูดบทสนทนาสั้นๆ
- ในช่วง 2-3 เดือน หลังผ่าตัด เริ่มฝึกพูดบทสนทนายาวๆ
- ในช่วง 3 เดือน ถึง 1 ปี เริ่มฝึกบริหารการใช้เสียงจนกว่าจะสามารถออกเสียง หรือพูดคุยเหมือนผู้หญิง ได้เป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์
ผลข้างเคียง หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง มีอะไรบ้าง?
- ความเสี่ยงทั่วไปจากการผ่าตัด เช่น แพ้ยาชา หรือยาสลบ เกิดการติดเชื้อ อักเสบ มีเลือดออก
- เสียงเปลี่ยน หรือเสียงมีคุณภาพแย่ลง
- โทนเสียงสูงขึ้นมากเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติ
- ระดับเสียงสูงขึ้นอย่างไม่คงที่
ผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง ราคาเท่าไร ทำที่ไหนดี?
ราคาผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิง เริ่มต้นที่ 90,000 บาท ขึ้นอยู่กับโปรโมชันของแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งอาจรวมค่าบริการทางแพทย์ และค่าทำกายภาพเสียงกับนักอรรถบำบัดแล้ว หรือยังไม่รวมก็ได้
ผู้ที่สนใจผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมก่อน
การผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นหญิงนั้น เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องให้ความสำคัญทั้งในขั้นตอนการผ่าตัด และการฟื้นฟูเสียงกับนักอรรถบำบัดอย่างเป็นระบบ
ผู้ที่สนใจผ่าตัดเปลี่ยนเสียงชายเป็นเสียงจึงควรศึกษาข้อมูลรายละเอียด และเลือกทำกับแพทย์ที่มีความชำนาญสูง กับโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน เชื่อถือได้