child development disease definition scaled

เช็กพัฒนาการลูกน้อย แรกเกิด–5 ปี ลูกโตสมวัยหรือเปล่า และวิธีเสริมพัฒนาการลูก

การได้มองเห็นลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ก็คงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ แต่พ่อแม่จะได้รู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรามีพัฒนาการสมวัย หรือสิ่งไหนบ้างที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย 

มีคำถามเกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

วันนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี รวมไปถึงวิธีการเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมกับลูกน้อยมาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูได้เลย

ทำความเข้าใจ “พัฒนาการเด็ก”

พัฒนาการเด็กเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และทักษะการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ทำให้เด็กสามารถทำความเข้าใจ ปรับตัว หรือมีทักษะที่ซับซ้อนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข 

พัฒนาการเด็กสามารถแบ่งออกได้ 4 ด้าน ดังนี้ 

  1. พัฒนาการด้านร่างกาย คือ ความสามารถของร่างกายทั้งในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การทรงตัว การเคลื่อนไหว เป็นต้น
  2. พัฒนาการด้านสติปัญญา คือ ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา รวมถึงพัฒนาการด้านภาษา และการใช้มือกับตา 
  3. พัฒนาการด้านอารมณ์ คือ ความสามารถในการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ และการควบคุม การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม 
  4. พัฒนาการด้านสังคม คือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน มีความรู้ผิดชอบชั่วดี และมีคุณธรรม

นอกจากพันธุกรรมแล้ว พัฒนาการเด็กยังได้รับอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมด้วย การส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกจะช่วยให้เด็กพัฒนาได้เต็มศักยภาพ และเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ 

พัฒนาการลูกน้อยตามวัย (เด็กแรกเกิด-5 ปี)

ช่วงวัยของเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 5 ปี จะเป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตและพัฒนาการสูง จึงเป็นช่วงสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย พร้อมทั้งคอยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

มีคำถามเกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

เดือน พัฒนาการตามวัย
แรกเกิด-1 เดือน
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ สามารถยกหัวและหันเปลี่ยนข้างได้
  • มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในระยะใกล้ (8-12 นิ้ว) เช่น หน้าคุณพ่อคุณแม่ แต่ดวงตายังขยับตามไม่ได้ จะใช้การหันหัวมองแทน
  • มองหน้าคนพูดได้ระยะสั้น ๆ อย่างน้อย 1 วินาที 
  • ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น ขยับหัวเมื่อมีคนลูบแก้ม สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง กำนิ้วมือเมื่อมีสิ่งของวางบนฝ่ามือ และเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน
  • ทำเสียงในลำคอ เสียงอ้อแอ้ได้
1-2 เดือน  
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ ยกหัวขึ้นได้ประมาณ 45 องศา ระยะสั้น ๆ ประมาณ 3 วินาที  และหันเปลี่ยนข้างได้ 
  • เริ่มสนใจกับสิ่งที่ผ่านตาไป มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว สามารถมองตามจากด้านข้างถึงประมาณระยะกลางลำตัวได้ 
  • มองหน้าคนพูดได้ระยะสั้น ๆ อย่างน้อย 5 วินาที 
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงพูดระดับปกติ
  • เริ่มส่งเสียง อู อา อือ หรือเสียงในลำคอ ฟังเสียงคุยกันได้
  • สามารถกำมือหลวม ๆ ได้ 
3-4 เดือน
  • เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ สามารถใช้แขนยันหน้าอกกับพื้นได้ ชันคอได้ 90 องศา ในท่านั่งสามารถตั้งหัวตรงได้
  • มองตามสิ่งของได้ 180 องศา
  • เริ่มโต้ตอบได้มากขึ้น ส่งเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ แสดงความรู้สึกได้ เช่น ยิ้ม หรือหัวเราะ เมื่อเจอพ่อกับแม่ หรือมีคนมาเล่นด้วย 
  • เหยียดแขนออกมา หรือใช้มือคว้าของใกล้ตัวได้ 
  • หันตามทิศทางเสียงที่ถูกต้องได้ 
5-6 เดือน
  • ยันตัวขึ้นจากท่านอนคว่ำ โดยเหยียดแขนตรงทั้ง 2 ข้างได้ นั่งโดยใช้มือยันพื้นได้เอง
  • มีการพลิกคว่ำหรือหงายตัวได้ 
  • ลูกเริ่มจำพ่อแม่ได้ เริ่มมีการร้องตาม 
  • เริ่มสนใจสิ่งที่มองเห็นรอบตัว 
  • เอื้อมมือไปหยิบ และถือสิ่งของได้ 
  • เริ่มเลียนแบบการเล่น หรือทำเสียงได้ตามได้ 
7-9 เดือน
  • นั่งได้ เอี้ยวตัวได้ 
  • ยืนเกาะได้อย่างน้อย 10 วินาที
  • รู้ชื่อของตัวเองและคำง่าย ๆ ที่ใช้บ่อย หันตามเสียงเรียกชื่อได้ 
  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้เมื่อใช้ท่าทางประกอบ เช่น ตบมือ โบกมือ บ๊ายบาย เล่นจ๊ะเอ๋
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่น ๆ หยิบของขึ้นจากพื้น ใช้นิ้วหยิบอาหารกินเองได้
  • เริ่มออกเสียงที่สระผสมกับพยัญชนะต่าง ๆ ได้ เช่น ปาปา มามา หม่ำ หม่ำ 
10-12 เดือน
  • ยืนได้โดยไม่ต้องพยุง อย่างน้อย 2 วินาที
  • สามารถทำท่าตามคำสั่งได้ โดยไม่ต้องมีคนทำท่าให้ดู เช่น โบกมือ ตบมือ 
  • แสดงความต้องการ โดยการเปล่งเสียง หรือทำท่าทาง 
  • สามารถจีบนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการหยิบจับ
  • สามารถเล่นของตามประโยชน์ของสิ่งของได้ เช่น หยิบช้อนมาทำท่ากินข้าว หยิบแปรงสีฟันมาแปรง
13-15 เดือน
  • ยืนได้โดยไม่ต้องพยุง อย่างน้อย 10 วินาที
  • เล่นตามบทบาทสมมติได้มากขึ้น เช่น แปรงฟันให้ตุ๊กตา 
  • เลียนแบบท่าทางได้อย่างน้อย 1 อย่าง เช่น ท่าทางการทำงานบ้าน
  • เริ่มขีดเขียนเป็นเส้น ๆ ลากเส้นยุ่ง ๆ ได้ 
  • เริ่มจำชื่อหรือบอกสิ่งของรอบตัวได้
  • เริ่มพูดคำพยางค์เดียวที่มีความหมายได้ 
  • สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ 
16-18 เดือน
  • เดินลากรถของเล่นหรือสิ่งของได้ 
  • พูดได้ประมาณ​ 1-5 คำ
  • พูดตามคำที่เด่น ๆ หรือคำสุดท้ายของประโยคได้
  • ดื่มน้ำจากแก้วได้โดยไม่หก วิ่งได้
  • พลิกหน้าหนังสือได้ทีละแผ่น
2 ปี
  • ใช้ช้อนตักอาหารกินเอง 
  • ใช้สิ่งของเข้ามาช่วยแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น หยิบเก้าอี้มาใช้ต่อตัวหยิบของ หรือใช้ไม้เขี่ย
  • พูดตอบรับและปฏิเสธได้ เช่น เอา ไม่เอา
  • พูดวลีหรือคำที่มีความหมายได้ประมาณ 2-3 คำ
  • รู้จักและชี้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ 
  • กระโดด 2 เท้าพร้อมกันได้ เดินขึ้นบันได โดยก้าวเท้าตามทีละข้างได้ 
3 ปี
  • ถอดรองเท้าและใส่เสื้อเองได้
  • เล่นสมมติที่ซับซ้อนเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
  • ทำตามคำสั่งต่อเนื่องได้ 2 ขั้นตอน เช่น “เก็บของเล่น แล้วหยิบกลับมาให้แม่”
  • บอกชื่อตนเอง หรือเวลาที่ต้องขับถ่ายได้ 
  • ยืนขาเดียวได้ 2-3 วินาที
  • เดินขึ้นบันได สลับเท้าได้ ขี่รถสามล้อเด็กได้
  • ลากเส้นต่อเนื่อง หรือเป็นวงกลมได้ 
  • พูด 3 คำติดต่อกัน ได้อย่างน้อย 4 ความหมาย
4 ปี
  • ร้องเพลงได้
  • ถามคำถามได้ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ทำไม 
  • ทำตามกฎในการเล่นเป็นกลุ่มได้ 
  • แยกขนาดวัตถุต่าง ๆ ได้ เช่น เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น 
  • อธิบายลักษณะของวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น สี หรือขนาด 
  • รู้จักการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อันตราย
  • นับของทีละชิ้นได้ 
  • แต่งตัว ใส่กระดุมเสื้อเองได้
5 ปี
  • ต่อชิ้นส่วนหรือจิ๊กซอว์ภาพง่าย ๆ ได้ 
  • แปรงฟันได้เอง และทำความสะอาดหลังอุจจาระได้ 
  • วิ่งเตะลูกบอลได้
  • จับดินสอได้ถูกต้อง สามารถจำแนกสีได้ 8 สี
  • เลียนแบบบทบาทของผู้ใหญ่ได้  
  • พูด ฟัง เข้าใจ และตอบคำถามได้ถูกต้อง มีการถามคำถามเกี่ยวกับเหตุและผลมากขึ้น
  • จำตัวอักษรได้ 
  • กระโดดสลับเท้า หรือกระโดดไปด้านหน้าด้านหลังได้ 

มีคำถามหรือเกิดความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการลูกน้อย อย่าปล่อยให้เวลาผ่านจนลูกเริ่มโต รู้ก่อนแก้ได้ก่อน ลองดูแพ็กเกจตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก ในราคาสบายกระเป๋า คลิก! 

วิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย (เด็กแรกเกิด-5 ปี)

นอกจากการสังเกตพัฒนาการลูกน้อยแล้ว พ่อแม่ควรส่งเสริมวิธีการเล่นกับลูกอย่างถูกวิธี และเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการให้ตรงตามวัยด้วย 

เดือน วิธีเสริมพัฒนาการเด็ก และของเล่นช่วยเสริมพัฒนาการ
แรกเกิด-1 เดือน
  • อุ้มลูกบ่อยๆ และคุยกับลูกใกล้ ๆ 
  • แสดงสีหน้ามาก ๆ และชัด ๆ เช่น ยิ้ม แลบลิ้น อ้าปาก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะทำตาม
  • ของเล่นในช่วงแรกเกิดควรเป็นเฉดสีขาวดำ พอลูกอายุ 1 เดือนแนะนำของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา เช่น สีแดง ส้ม ฟ้า เหลือง
  • หาของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรี เพื่อให้ลูกเรียนรู้การสนใจวัตถุตรงหน้า
1-2 เดือน  
  • จัดลูกให้อยู่ในท่านอนหงาย หรืออุ้มลูก แล้วพูดคุย เรียกชื่อ ส่งยิ้ม กระพริบตากับลูกในระยะ 30 ซม. หรือประมาณ 1 ไม้บรรทัด
  • จัดลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ เขย่าของเล่นเสียงกรุ๊งกริ๊งที่มีสีสด ๆ อย่างสีแดง นำมาเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เพื่อฝึกให้ลูกมองตามเสียงและวัตถุ
  • ของเล่นที่เหมาะ เช่น ลูกบอลผ้าหรือไหมพรมสีสันสดใส กรุ๊งกริ๊งทำด้วยพลาสติกหรือผ้าที่จับถือง่ายและปลอดภัย 
3-4 เดือน
  • พูดคุย เล่น พร้อมทำหน้าตาให้ลูกสนใจ 
  • สัมผัสจุดต่าง ๆ ของลูก เช่นใช้นิ้วมือสัมผัสเบา ๆ ที่ฝ่าเท้า ท้อง เอว โดยการสัมผัสแต่ละครั้ง ควรมีจังหวะหนักเบาที่แตกต่างกัน
  • เริ่มฝึกให้ลูกทำตาม เช่น อาจจะพูดว่า “ยิ้มให้คุณพ่อสิลูก” 
  • แขวนโมบายให้ลูกในระยะที่สามารถเอื้อมจับได้ 
  • หาของเล่นที่สามารถถือได้ สีสันสดใส เช่น ตุ๊กตาผ้านิ่ม ๆ ลูกบอลผ้าหรือไหมพรม 
5-6 เดือน
  • ชี้ชวนให้ลูกมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัว 
  • พูดคุยกับลูกด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกัน
  • จัดท่าลูกให้อยู่ในท่านอนคว่ำ แล้วใช้ของเล่น โดยเคลื่อนที่ขึ้นข้างบนเหนือหัวช้า ๆ เพื่อให้ลูกฝึกยกหัวและยันตัวตาม
  • ใช้ของเล่นมาวาง เพื่อให้ลูกฝึกเอื้อมหยิบจับ เช่น ให้เล่นลูกบอลบีบแล้วมีเสียง ลูกบอลผ้าหรือไหมพรมสีสด กรุ๊งกริ๊งทำจากพลาสติกหรือผ้า หรือหนังสือรูปภาพสีสด
7-9 เดือน
  • ให้ลูกนั่ง พร้อมวางของเล่นกระจายอยู่รอบ ๆ ตัว เพื่อให้ลูกฝึกเอื้อมและหยิบ
  • จับลูกนั่งตัก พร้อมเปิดหนังสือภาพ ชี้ภาพต่าง ๆ ให้ลูกดูตาม
  • เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ 
  • ทำเสียงใหม่ ๆ ให้ลูกเลียนเสียงตาม หรือร้องเพลงง่าย ๆ 
  • ส่งเสริมให้ลูกฝึกคลานในพื้นที่ปลอดภัย ฝึกเกาะขอบโต๊ะหรือโซฟา
  • ตัวอย่างของเล่นให้ลูกเล่น เช่น บล็อกไม้สี ๆ  หรือของเล่นขนาดพอดีมือ ของเล่นสีสดใส ที่ถือมือเดียวได้
10-12 เดือน
  • แบ่งขนมหรืออาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 ซม. ใส่ภาชนะไว้ เพื่อฝึกให้ลูกหยิบทาน แต่พ่อแม่ควรคอยดูและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
  • เล่นกับลูกโดยใช้คำง่าย ๆ เช่น โบกมือ สวัสดี บ๊ายบาย
  • เมื่อนำของเล่นหรือขนมที่ลูกชอบมาให้ ให้พ่อแม่ถามเสมอว่า เอาไหม? เอาอันไหน? เพื่อเป็นกระตุ้นการแสดงออกของลูก
  • ชวนลูกเล่นสมมติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชวนหวีผม แปรงฟัน 
13-15 เดือน
  • เล่นสมมติกับลูก เช่น หวีผมให้ตุ๊กตา ป้อนข้าวตุ๊กตา
  • ให้ลูกขีดเขียนลงกระดาษ อาจมีการช่วยจับมือ หรือขีดเส้นให้ลูกดู
  • เริ่มบอกให้ลูกรู้จักกับสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว ว่าอันไหนเรียกว่าอะไร 
  • ฝึกใช้คำสั่งง่าย ๆ กับลูก เช่น หยิบตุ๊กตาให้แม่หน่อย
16-18 เดือน
  • ชวนลูกลากของเล่นหรือสิ่งของ และเดินไปด้วยกัน 
  • ชวนลูกเล่นต่อของแนวตั้ง
  • ชี้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ชักชวนให้ลูกชี้หรือพูดตาม
  • ให้หยิบตักอาหาร หรือดื่มน้ำเอง
2 ปี
  • ฝึกขยายคำพูดของลูก เช่น หากลูกพูดว่า “กิน” ให้เติมคำหรือขยายความ เช่น “กินข้าว” 
  • ฝึกขึ้นบันได หรือกระโดดต่ำ ๆ โดยมีพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • เล่นบทบาทสมมติต่าง ๆ กับลูก อาจใช้การเล่านิทาน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
  • เล่นตัวต่อแนวตั้ง หรือของเล่นที่มีรูปทรงเลขาคณิต ให้ลูกฝึกแยกแยะของรูปทรงต่าง ๆ
  • เริ่มเพิ่มรายละเอียดในสิ่งที่ลูกทำได้ เช่น ก่อนจะกินข้าว ให้ล้างมือ เช็ดมือ 
3 ปี
  • ชวนลูกให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ช่วยทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน 
  • ฝึกใช้สีเทียนวาดรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม ควบคู่กับการสอนให้ลูกรู้จักสีแต่ละสี
  • ให้ลูกเล่นเกมง่าย ๆ เช่น นำของเล่นไปซ่อน ให้ลูกลองหาของ และนำมาให้ 
  • เริ่มตั้งคำถามบ่อย ๆ ให้ลูกได้ฝึกตอบ 
  • อ่านนิทาน สอดแทรกการตั้งคำถามระหว่างเล่าเรื่อง
  • ตัวอย่างของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น ภาพตัวต่อจิ๊กซอว์ บล็อกไม้สี และรูปทรงต่าง ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น หนังสือนิทานที่มีเรื่องราวที่ซับซ้อนตามวัย ชุดการเล่นบทบาทสมมติในเรื่องต่าง ๆ 
4 ปี
  • ส่งเสริมให้ลูกเริ่มเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน
  • พูดคุยชีวิตประจำวันมากขึ้น พร้อมฝึกตั้งคำถามโต้ตอบกับเด็ก เช่น แม่ทำอะไรอยู่นะ พ่ออยู่ที่ไหนนะ
  • ฝึกให้ลูกแยกขนาดและลักษณะของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ของเล่นอันไหนใหญ่กว่าหรือเล็กกว่า อันนี้มีสีอะไร 
  • สอนให้ลูกแสดงออกให้โอกาสต่างๆ เช่น การขอบคุณ การขอโทษ
  • เริ่มสอนให้ลูกรู้จักสิ่งที่ต้องเลี่ยงอันตราย
  • ชวนเล่นปั้นดินน้ำมัน แป้งโดว์ วาดภาพระบายสี ให้เล่นของเล่นที่ถอดประกอบได้ ก้อนไม้สี ๆ เพื่อนับหรือเรียง อ่านนิทานตามวัย 
5 ปี
  • ชักชวนให้ลูกต่อจิ๊กซอว์ภาพที่มีขนาด 6-8 ชิ้น
  • ฝึกลูกให้เข้าห้องน้ำ และทำความสะอาดหลังเข้าห้องน้ำ
  • ฝึกจับดินสอ และขีดเส้นรูปแบบต่าง ๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม
  • สอนเรื่องสีต่าง ๆ 
  • เล่นสวมบทบาทที่ซับซ้อน เช่น เล่นขายของ เล่นเป็นคุณหมอกับคนไข้ เป็นต้น
  • ฝึกวิ่ง เตะลูกบอล หรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง
  • ตัวอย่างของเล่น เช่น สมุดภาพ สมุดระบายสี สีเทียน สีไม้ สีน้ำตัวต่อ เลโก้ ชุดการเล่นบทบาทสมมติ และหนังสือนิทานตามวัย

จะเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลูกจะได้เรียนรู้และรู้จักกับความสามารถของตัวเอง รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว 

โดยหัวใจของ “พัฒนาการเด็ก” คือ การเฝ้าสังเกต เอาใจใส่ ให้เวลา และคอยส่งเสริมพัฒนาการลูกในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีพัฒนาการสมวัย

อย่างไรก็ดี พัฒนาการเด็ก ย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละคน หากมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก “การตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง รับรู้ถึงปัญหา และวางแนวทางการเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างเหมาะสม 

นอกจากเฝ้าสังเกตแล้ว “การตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก” เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้พ่อแม่รู้ถึงพัฒนาการของลูก และวางแนวทางเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างเหมาะสม หาแพ็กเกจตรวจประเมินพัฒนาการเด็ก โดยผู้เชี่ยวชาญ ราคาโปร ใกล้บ้านคุณ คลิก!

มีคำถามเกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ