cervical cancer disease definition scaled

รวมข้อมูลที่ผู้หญิงควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูกเป็น 1 ใน 5 โรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย สภาพจิตใจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และยังเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลายๆ รายอีกด้วย มะเร็งปากมดลูกคืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา รวมถึงวิธีป้องกันเป็นอย่างไร อ่านทุกข้อมูลที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปาดมดลูกได้ในบทความนี้

โรคมะเร็งปากมดลูกคืออะไร?

โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) คือการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติที่เกิดภายในเยื่อบุปากมดลูก โดยตำแหน่งของปากมดลูกนี้ จะอยู่บริเวณด้านล่างของตัวมดลูกเชื่อมต่อกับช่องคลอด และเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน นอกจากนี้ยังเป็นทางผ่านของเซลล์อสุจิที่จะเข้าไปด้านในมดลูกอีกด้วย

โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงวัย 35-50 ปี แต่ขณะเดียวกันก็ยังสามารถพบได้ในผู้หญิงวัยต่ำกว่า 30 ปีเช่นกัน และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทยอีกด้วย

สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อไวรัสนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น โรคหูดหงอนไก่ โรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งองคชาต เป็นต้น โดยกลุ่มผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย 
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีครั้งแรกก่อนอายุ 18 ปี
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ 
  • ผู้ที่มีบุตรหลายคน
  • ผู้ที่ตนเองและคู่นอนไม่รักษาสุขอนามัยของอวัยวะเพศ 
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น โรคหนองในแท้ โรคซิฟิลิส ผู้ที่ติดเชื้อ HIV

อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก

อาการของโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค หากเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติใดๆ แต่เมื่ออาการเริ่มลุกลาม อาจแสดงอาการดังนี้

  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มามากผิดปกติ มานานผิดปกติ
  • ถึงแม้ประจำเดือนหมดแล้ว ก็ยังมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดอย่างผิดสังเกต 
  • มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีตกขาวมากขึ้น 
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน
  • ปวดท้องน้อยหรือปวดหัวหน่าวอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • เจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์

ปวดท้องน้อย มีตกขาวเยอะขึ้น มีเลือดไหลกะปริบกะปรอยที่ไม่ใช่ประจำเดือน อยากถามคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ อยากตรวจหรือปรึกษาเพิ่มเติม ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอได้เลย

ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก มีความคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งโดยทั่วไป คือสามารถแบ่งได้เป็นระยะ ดังนี้

  1. ระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง เป็นระยะที่เซลล์ปากมดลูกเกิดความผิดปกติ แต่ยังอยู่ใต้เยื่อบุผิวปากมดลูกอยู่ หากผู้ป่วยตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ แล้วรักษาอย่างถูกวิธี จะมีโอกาสหายไ้ด้สูง
  2. ระยะลุกลาม เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งก่อตัวกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว โดยแบ่งระยะได้ดังต่อไปนี้
    1. ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายอยู่ในปากมดลูก
    2. ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายจากปากมดลูกไปส่วนบนของช่องคลอด หรือที่เนื้อเยื่อข้างปากมดลูก
    3. ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วประมาณ 1 ใน 3 ของบริเวณช่องคลอด อาจรวมถึงบริเวณผนังอุ้งเชิงกราน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงด้วย
    4. ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปเกินกว่าบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ ปอด กระดูก

วิธีรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ตรวจพบ ได้แก่

  • การติดตามอาการ ใช้ในผู้ป่วยระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง ในระหว่างนี้แพทย์จะนัดมาตรวจดูรอยโรคเป็นระยะๆ อาจอยู่ที่ทุก 4-6 เดือน หากมีการเปลี่ยนแปลงจะวางแผนการรักษาต่อไป
  • การจี้เย็นหรือจี้ไฟฟ้าที่ปากมดลูก คือการทำลายมะเร็ง โดยทำให้บริเวณที่เป็นมะเร็งเย็นจนเป็นน้ำแข็ง
  • การตัดปากมดลูกรูปกรวย เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค ในรายที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และช่วยรักษาโรคในผู้ป่วยที่เป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง ถ้าตัดออกได้หมดผู้ป่วยมักจะหายขาด
  • การผ่าตัดปากมดลูก เพื่อนำก้อนมะเร็ง ปากมดลูก และอวัยวะอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งออก สามารถแบ่งเทคนิคการผ่าตัดได้หลายรูปแบบ เพื่อให้กำจัดรอยโรคออกได้หมดจด เช่น
  • การใช้รังสีรักษา นิยมรักษาร่วมกับการผ่าตัดหรือการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับระยะหรือความรุนแรงของโรค
  • การให้ยาเคมีบำบัด นิยมรักษาร่วมกับการผ่าตัดหรือการทำรังสีรักษา ขึ้นอยู่กับระยะของหรือความรุนแรงของโรคเช่นกัน
  • การใช้ยาคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
  • การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)

ทั้งนี้การเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก แม้เป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง แต่ปัจจุบันก็มีวิธีป้องกันที่ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง นั่นคือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นวิธีป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึง 90% โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • งดพฤติกรรมสูบบุหรี่ และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจภายใน พร้อมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป เพราะหากตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายได้เองโดยที่เชื้อยังไม่ลุกลามเป็นโรคมะเร็งก็มีสูงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 18 ปี

โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นภัยเงียบที่กว่าผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอาการ ระยะของโรคก็มักลุกลามจนต้องผ่านขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนขึ้นเสียแล้ว

ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการ ตรวจคัดกรองกับแพทย์ทุกปี และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้สร้างผลกระทบต่อร่างกายและคุณภาพชีวิต

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top