breast self exam screening how to check yourself scaled

3 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง รู้ทันมะเร็งร้ายง่าย ๆ ในไม่กี่ขั้นตอน

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นภัยร้ายที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้หญิงทั่วโลก และยังเป็นมะเร็งอันดับต้นที่คร่าชีวิตผู้หญิงด้วย การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination: BSE) จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เราสังเกตสัญญาณของโรคร้ายตั้งแต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการรักษาตัวที่ตรงจุดได้เร็ว ช่วยให้โอกาสหายขาดมีมากขึ้น วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด บทความนี้เรายกท่าตรวจง่าย ๆ มาให้คุณ 3 ท่าเลย! 

มะเร็งเต้านมควรตรวจเมื่อไหร่ บ่อยแค่ไหน

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์บริเวณเต้านมหรือท่อน้ำนมแบ่งตัวผิดปกติจนไม่อาจควบคุมได้ แล้วเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ก่อนจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ และอวัยวะโดยรอบ ปัจจุบันยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ที่รู้แน่ชัดคือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ ทั้งตรวจด้วยตัวเองและตรวจโดยแพทย์ จะเป็นกุญแจสู่สุขภาพดีและชีวิตที่ยืนยาวได้ 

นอกจากปัจจัยเสี่ยงอย่างประวัติสุขภาพ กรรมพันธุ์ หรือฮอร์โมน อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวัยกลางคนมักเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้บ่อยกว่าช่วงวัยอื่น สถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ จึงแนะนำให้ผู้หญิงที่อายุถึงเกณฑ์เสี่ยงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ดังนี้

    • อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมตัวเองทุกเดือน โดยให้ตรวจช่วง 7 วันหลังมีประจำเดือน ควบคู่กับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 1-3 ปี
    • อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 1 ปี ตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ทุก 1-2 ปี 
    • ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง คือ คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ตัวเองเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน เคยผ่าตัดเต้านม หรือเคยฉายรังสีบริเวณหน้าอก ควรตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 6-12 เดือน และเริ่มตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป และอาจตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ร่วมด้วยตามแพทย์แนะนำ

3 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

หลักที่ต้องให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองมี 2 อย่างด้วยกัน คือ การดูและการคลำ การดูให้ใช้ตาสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก เช่น หัวนม ปานนม ผิวเต้านม ระดับและขนาดของเต้านม หรือรักแร้

ส่วนการคลำหาก้อนจะเน้นใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางกดลงบริเวณเต้านม รักแร้และเหนือกระดูกไหปลาร้าที่เป็นตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง ร่วมกับบีบหัวนม เพื่อดูของเหลวที่อาจไหลออกมาจากหัวนม โดยสามารถคลำได้หลายแบบ เช่น 

  • คลำเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาหรือรูปก้นหอยจากหัวนมวนสู่ฐานเต้านมและรักแร้ 
  • คลำขึ้นและลงตามแนวนอนจากรอบนอกเต้านมด้านล่างไปยังกระดูกไหปลาร้า  
  • คลำแนวทแยงเป็นรัศมีกระจายจากหัวนมออกไปยังเต้านมด้านนอก

3 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้านจะมีดังนี้

วิธีที่1 ตรวจในท่ายืนหน้ากระจก

  1. ยืนตัวตรงมือแนบข้างลำตัวในท่าสบาย แล้วสังเกตรูปร่าง ขนาด ระดับความสมมาตร และสีผิวบริเวณเต้านมและหัวนมทั้ง 2 ข้าง 
  2. ยกแขนทั้ง 2 ข้าง ขึ้นเหนือศีรษะ แล้วสังเกตรูปร่าง ขนาด และความผิดปกติของเต้านม เช่น รอยบุ๋ม รอยนูน แผล หรือการอักเสบของเต้านม
  3. มือ 2 ข้างเท้าเอวแล้วกดน้ำหนักลงที่สะโพก หรือเกร็งหน้าอก แล้วสังเกตความผิดปกติของเต้านม
  4. โน้มตัวไปด้านหน้าแล้วสังเกตความผิดปกติของเต้านมทั้ง 2 ข้าง วิธีนี้จะช่วยให้สังเกตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วิธีที่ 2 ตรวจในท่านอนราบ

  1. นอนหงาย โดยใช้หมอนใบเล็กสอดใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ จากนั้นยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ
  2. ใช้นิ้วมือทั้ง 3 นิ้วอย่างนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ของมืออีกข้างคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม โดยเพิ่มแรงกดขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากกดเบา ๆ กดแรง และกดหนัก เพื่อตรวจหาก้อนที่อาจซ่อนอยู่ ระวังอย่าบีบเนื้อเต้านมแทนการกด  
  3. บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ เพื่อสังเกตของเหลวที่อาจไหลออกมาจากหัวนม อย่างเลือดหรือน้ำเหลือง

วิธีที่ 3 ตรวจขณะอาบน้ำ

  1. แนะนำให้ตรวจตอนตัวเปียกหรือฟอกสบู่ ผิวหนังที่ลื่นจากน้ำหรือสบู่จะช่วยให้ตรวจได้ง่ายขึ้น
  2. ยกแขนข้างที่ต้องการตรวจไว้บนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างทั้ง 3 นิ้ว คลำเช่นเดียวกับการตรวจในท่านอนราบ
  3. ตรวจบริเวณรักแร้ เพื่อดูความผิดปกติ ก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองโต 
  4. บีบหัวนมเบา ๆ ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ เพื่อตรวจดูของเหลวที่อาจไหลออกมาอย่างเลือดหรือน้ำเหลือง

เต้านมด้านนอกบริเวณส่วนบนเป็นตำแหน่งที่พบก้อนมะเร็งได้บ่อยที่สุด ตรวจเต้านมทุกครั้งควรสังเกตอย่างละเอียด และอีกจุดที่ไม่ควรละเลย คือ บริเวณใต้รักแร้และเหนือกระดูกไหปลาร้า เพราะเป็นตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองที่อาจเกิดความผิดปกติได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจพบสิ่งปกติบริเวณเต้านมหรือก้อนที่เต้านม อาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป อาจเป็นเพียงถุงน้ำหรือก้อนเนื้อที่เต้านมธรรมดา จึงไม่ควรกังวลหรือสรุปไปเองก่อน แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด

วิธีตรวจมะเร็งเต้ามนมด้วยตัวเองเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้หญิงทุกคนควรจดลงเช็กลิสต์ประจำเดือน และหมั่นทำให้เป็นนิสัย เพราะยิ่งตรวจเจอได้ไว ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตอนที่ก้อนมะเร็งยังไม่ใหญ่หรือแพร่กระจายออกไป โอกาสหายก็จะสูงมาก 

กรณีตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้วพบสัญญาณเตือนคล้ายมะเร็งเต้านม เช่น มีก้อนหรือเนื้อแข็งเป็นไต กลิ้งได้ หรือดึงรั้งผิวหนัง รูปร่าง ขนาด หรือสีของเต้าและหัวนมผิดปกติ เต้านมทั้ง 2 ข้างไม่สมมาตรกัน มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลจากหัวนม ผิวมีรอยบุ๋ม เป็นแผล หรือมีลักษณะเหมือนเปลือกส้ม ควรรีบไปตรวจโดยแพทย์ทันที 

ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเสร็จแล้ว อย่าลืมไปตรวจกับคุณหมอเป็นประจำทุกปี จะได้รู้ชัด ๆ กันไปเลย! เปรียบเทียบราคา ค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้เลยที่ HDmall.co.th ให้แอดมินเป็นผู้ช่วยนัดหมาย สะดวกทุกขั้นตอน ตั้งแต่จองจนเข้ารับบริการ คลิกดูโปร  

Scroll to Top