hernia screening process

วิธีตรวจไส้เลื่อนมีกี่แบบ ตรวจยังไง วิธีไหนเหมาะกับเราที่สุด

ไม่แน่ใจว่าเป็นไส้เลื่อนหรือเปล่า ต้องตรวจด้วยวิธีไหนดี เจ็บหรือไม่? ใครที่กำลังสงสัยว่าจะเป็นไส้เลื่อน อยากตรวจกับแพทย์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าต้องเลือกตรวจด้วยวิธีไหนดี วันนี้เรารวบรวมเทคนิคการตรวจไส้เลื่อนรูปแบบต่างๆ พร้อมอธิบายการตรวจโดยละเอียดเอาไว้ให้แล้ว 

ตรวจไส้เลื่อนด้วยการตรวจร่างกาย

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่คล้ายจะเป็นไส้เลื่อน เช่น คลำพบก้อนปูด นูนออกจากร่างกาย บริเวณขาหนีบ หัวหน่าว สะดือ หรือหน้าท้อง 

แพทย์มักจะตรวจร่างกายในเบื้องต้นด้วยการซักประวัติ พร้อมตรวจดูและคลำก้อนที่ผิดปกติ และอาจให้ผู้รับการตรวจทดลองยืนตรง หรือไอ เพื่อให้สังเกตก้อนได้ชัดเจนขึ้น หากก้อนมีลักษณะนิ่ม ดันแล้วยุบกลับไปได้ มักสันนิษฐานว่าเป็นไส้เลื่อน พร้อมกันนี้อาจส่งตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธีเอกซเรย์

การตรวจเอกซเรย์เป็นการถ่ายภาพอวัยวะภายในของร่างกายมนุษย์ด้วยรังสีเอกซ์ ทำให้ได้ภาพขาวดำที่แต่ละเนื้อเยื่อจะให้ความเข้มของสีต่างกัน ยิ่งแข็งก็ยิ่งเป็นสีขาวชัดเจน เช่น กระดูก เป็นสีขาว เนื้อเยื่ออื่นๆ เป็นสีเทา อากาศเป็นสีดำ

การตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธีเอกซ์เรย์ช่วยให้เห็นว่า ลำไส้ที่ติดคาอยู่บริเวณผนังช่องท้องมีลักษณะอย่างไร อาจใช้ประเมินความเสี่ยงเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรผ่าตัดอย่างเร่งด่วนหรือไม่

ตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธีเอกซเรย์ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เจ้าหน้าที่เพียงจะให้ผู้รับการตรวจถอดเครื่องประดับออกให้หมด เปลี่ยนเชื้อผ้าเป็นชุดหลวมๆ แล้วยืนอยู่ระหว่างเครื่องเอกซเรย์กับตัวรับภาพ หรืออาจให้นอนบนเตียงเอกซเรย์ นิ่งค้างอยู่ในท่าเฉพาะชั่วขณะ เพื่อเจ้าหน้าที่จะจับภาพได้อย่างชัดเจน 

ตรวจไส้เลื่อนด้วยการอัลตราซาวด์

บางกรณีที่เห็นก้อนไส้เลื่อนไม่ชัดหรือคลำตรวจแล้วไม่เจอก้อนที่ชัดเจน อาจเพราะไส้เลื่อนมีขนาดเล็ก หรือตำแหน่งไส้เลื่อนอยู่ลึก แพทย์อาจแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

การตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แพทย์จะเพียงทาเจลเย็นบนผิวหนังผู้รับการตรวจ แล้วใช้หัวตรวจเคลื่อนไปมาเท่านั้น จากนั้นภาพอวัยวะภายในจะไปปรากฎที่จอแสดงผล ถือเป็นการตรวจที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับการตรวจถ่ายภาพอวัยวะภายในวิธีอื่นๆ เนื่องจากไม่มีการใช้รังสีใดๆ

การตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธีอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่มักใช้ตรวจไส้เลื่อนที่อยู่ต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia)

ตรวจไส้เลื่อนด้วยการทำ CT Scan

การทำ CT Scan เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตรวจภาวะไส้เลื่อนได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ แต่มักไม่ใช่ทางเลือกแรกที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากมีใช้ค่าใช้จ่ายสูง และผู้รับการตรวจจะได้รับรังสีมากกว่าการตรวจเอกซเรย์ธรรมดา

แพทย์จะสั่งตรวจวิธีนี้ ก็ต่อเมื่อการตรวจอื่นๆ ไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนเพียงพอ หรือพบก้อนในตัวผู้ป่วย แต่ไม่แน่ใจว่าก้อนนั้นเป็นไส้เลื่อนหรือเป็นก้อนชนิดอื่น

การตรวจไส้เลื่อนด้วย CT Scan จะให้ภาพอวัยวะภายในแบบตัดขวางที่มีรายละเอียดสูง มีประโยชน์ในกรณีที่ภาวะไส้เลื่อนมีความซับซ้อน เช่น ไส้เลื่อนที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะติดคา ใช้เป็นตัวช่วยให้แพทย์เห็นการพัฒนาของโรค ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน ทำให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาไส้เลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

การตรวจด้วยวิธี CT Sacan นี้ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เจ้าหน้าที่เพียงให้ผู้รับการตรวจถอดเครื่องประดับต่างๆ ออก เปลี่ยนชุด แล้วนอนบนเตียงตรวจ จากนั้นเคลื่อนเตียงเข้าไปในเครื่องตรวจ CT Scan ที่มีลักษณะคล้ายโดนัท ระหว่างตรวจ เจ้าหน้าที่อาจให้ผู้รับการตรวจหายใจเข้า-ออก หรือกลั้นใจหาย เพื่อให้ได้ภาพอวัยวะภายในที่ชัดเจนที่สุด

ตรวจไส้เลื่อนด้วยการทำ MRI

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายว่าเป็นไส้เลื่อน แต่คลำไม่พบก้อนนูน มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาออกกำลังกาย แพทย์อาจให้ตรวจไส้เลื่อนด้วยวิธี MRI เนื่องจากวิธีนี้สามารถให้ภาพรายละเอียดสูง ตรวจสอบได้แม้กระทั่งรอยขาดในกล้ามเนื้อ

หลักการทำงานของเครื่อง MRI คือจะสร้างภาพอวัยวะภายในของผู้รับการตรวจด้วยคลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็ก บางครั้งอาจมีการฉีดสีเข้าที่เส้นเลือดผู้รับการตรวจร่วมด้วย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

การทำ MRI ถือว่าให้ภาพชัดที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ มักใช้ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีความซับซ้อน อยู่ลึก เห็นไม่ชัด หรืออยู่ในบริเวณที่การผ่าตัดมีความเสี่ยงจะกระทบกับอวัยวะข้างเคียง เป็นต้น

การตรวจ​ไส้เลื่อนด้วยวิธีทำ MRI ไม่เจ็บ แต่อาจรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวได้ เนื่องจากเครื่องตรวจมีลักษณะเป็นอุโมงค์แคบๆ ปิดทึบ ขั้นตอนตรวจคือ ผู้รับการตรวจถอดเครื่องประดับทั้งหมด เปลี่ยนเสื้อผ้า นอนลงบนเตียง จากนั้นเตียงจะถูกเคลื่อนเข้าไปในเครื่องทำ MRI ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกภาพ

การตรวจไส้เลื่อนทุกวิธี จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ โดยทั่วไปแพทย์มักวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ตอนซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ดังนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นไส้เลื่อน แนะนำให้เข้ารับการตรวจโดยละเอียด เพื่อจะได้รู้แนวทางการรักษาต่อไป จะดีกว่าเก็บความกังวลไว้หรือพยายามรักษาไส้เลื่อนแบบชั่วคราวด้วยตนเอง ตามปกติไส้เลื่อนไม่ใช่โรคอันตราย แต่ถ้าเกิดภาวะไส้เลื่อนแล้วทิ้งไว้นานๆ ไม่รักษา บางกรณีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิตได้

Scroll to Top