checkup preparations screening faq scaled

8 คำแนะนำเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพ เตรียมตัวยังไงให้ผลแม่นยำ

นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การตรวจสุขภาพเป็นอีกวิธีดูแลสุขภาพที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะการตรวจจะช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคในอนาคต และช่วยให้เราวางแผนรับมือกับปัญหาสุขภาพเหล่านั้นได้ดีขึ้น แต่ก่อนเข้ารับการตรวจเราควรเตรียมพร้อมบางเรื่อง เพื่อให้ผลการตรวจเกิดความคาดเคลื่อนน้อยและแม่นยำมากที่สุด

มีคำถามเกี่ยวกับ ตรวจสุขภาพ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

โปรแกรมการตรวจสุขภาพปัจจุบันมีอยู่หลากหลายรูปแบบ แยกไปตามวัยและความเสี่ยง แล้วถ้าเราต้องไปตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัวยังไง บางคนก็บอกต้องงดน้ำงดอาหาร บางคนก็บอกไม่จำเป็น และมีเรื่องอะไรที่ควรระวังก่อนไปตรวจสุขภาพบ้าง วันนี้ HDmall มี 8 คำแนะนำพื้นฐานก่อนไปตรวจสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด 

1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับที่มีคุณภาพ และระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายของคุณอยู่ในสภาวะปกติมากที่สุด โดยเฉพาะการตรวจวัดระดับความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย และการเต้นของหัวใจ การนอนน้อยหรือมากเกินไปสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ในคืนก่อนไปตรวจสุขภาพ เราควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสุขภาพได้ตามเป็นจริงและผลการตรวจออกมาแม่นยำ 

2.งดน้ำและอาหารก่อนตรวจเลือดตามแพทย์แนะนำ

สถานะสุขภาพของเราหลายอย่างสามารถรู้ได้จากการตรวจเลือด การตรวจเลือดบางแบบจำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร เพราะสารอาหารและสารต่าง ๆ ในเลือดอาจทำให้ผลเลือดแปรปรวนได้ แต่การตรวจเลือดบางประเภทอาจไม่จำเป็น และระยะเวลาที่ต้องงดน้ำและอาหารยังต่างกันไปด้วย เช่น

  • การตรวจน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร (Fasting Blood Sugar: FBS) ควรงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ สามารถจิบน้ำเปล่าได้ ยกเว้นเครื่องดื่มอื่น ๆ เพราะจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่สามารถกลับมากินได้ตามปกติทันทีหลังการเจาะเลือด
  • การตรวจไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล,ไตรกลีเซอร์ไรด์, HDL, LDL) ควรงดอาหารอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ สามารถจิบน้ำเปล่าได้ ยกเว้นเครื่องดื่มอื่น ๆ เพราะจะส่งผลต่อระดับไขมันในเลือด แต่สามารถกลับมากินได้ตามปกติทันทีหลังการเจาะเลือด
  • การตรวจเลือดเพื่อหาค่าอื่น เช่น การตรวจระดับน้ำตาลสะสม การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจค่าตับค่าไต และการตรวจฮอร์โมนบางชนิด ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร

นอกจากการตรวจเลือดแล้ว การตรวจคัดกรองบางประเภทอาจจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารเช่นเดียวกัน อย่างการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ควรงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพโปรแกรมใดก็อย่าลืมที่จะถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ให้ชัวร์อีกครั้ง  

3.สวมเสื้อผ้าที่สบาย เหมาะกับการตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพนั้นมีหลายขั้นตอน วันที่ไปตรวจสุขภาพควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่สบาย ไม่รัดแน่นเกินไป และเหมาะกับการตรวจมากที่สุด เช่น ควรเลือกใส่เสื้อแขนสั้น เสื้อที่พับแขนเสื้อได้เมื่อต้องไปเจาะเลือด กรณีที่ต้องตรวจเอกซเรย์ ให้เลือกใส่เสื้อที่มีกระดุมด้านหน้า หรือเสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย  เพราะมักต้องเปลี่ยนเป็นชุดของโรงพยาบาล และไม่ควรใส่เครื่องประดับ โดยเฉพาะที่ทำจากโลหะ ส่วนผู้หญิงควรเลี่ยงใส่เสื้อชั้นในที่มีโครงเหล็ก เพื่อไม่ให้บดบังภาพของปอด 

มีคำถามเกี่ยวกับ ตรวจสุขภาพ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

4.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อหลายระบบภายในร่างกาย ทั้งเลือด ปัสสาวะ และระดับความดันโลหิต เพื่อผลการตรวจสุขภาพที่แม่นยำ ควรเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนตรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นการตรวจระดับไขมันในเลือดที่ต้องงดอาหาร ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนตรวจอย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ ควรงดการสูบบุหรี่ก่อนการตรวจวัดระดับความดันโลหิต และการตรวจสมรรถภาพปอด เพราะสารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลต่อผลการตรวจได้

5.เลื่อนการตรวจเมื่อมีประจำเดือน

ผู้หญิงที่มีนัดตรวจสุขภาพพอดี แต่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ควรเลื่อนการตรวจสุขภาพออกไปก่อน และกลับไปตรวจอีกครั้งหลังจากประจำเดือนหมดไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ เพราะสภาวะร่างกายอาจส่งผลให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะการตรวจอุจจาระและปัสสาวะที่มักจะมีเลือดปนออกมาด้วย

6.เตรียมข้อมูลให้ดี 

เมื่อต้องไปตรวจสุขภาพ แพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจะซักถามประวัติสุขภาพต่าง ๆ มากมาย ทั้งโรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่ใช้ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว อาการที่พบในช่วงนี้ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพที่คุณกังวล แนะนำว่าให้คุณจดโน้ตเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ไว้กันลืม เพื่อช่วยให้คุณบอกแพทย์ได้อย่างละเอียด ครบถ้วน และช่วยให้แพทย์ประเมินปัญหาสุขภาพได้ตามเป็นจริงที่สุด นอกจากนี้ อย่าลืมพกสิ่งของจำเป็น อย่างบัตรประจำตัวประชาชน บัตรนัด และบัตรโรงพยาบาลไปติดกระเป๋าไปด้วย ใครที่มีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ ควรนำประวัติสุขภาพ ผลการตรวจจากแพทย์ครั้งก่อน และยาที่กินเป็นประจำติดตัวมาให้แพทย์ดูด้วย 

7.ตอบคำถามให้ตรงตามจริง 

นอกจากข้อมูลสุขภาพที่แพทย์ต้องถามเพื่อรวบรวมข้อมูลในการตรวจสุขภาพแล้ว แพทย์อาจสอบถามข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เช่น รูปแบบการใช้ชีวิต อาหารที่รับประทานเป็นประจำ นิสัยการดื่ม การสูบบุหรี่ สถานะการใช้สารเสพติด และอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต่อการประเมินสุขภาพ ซึ่งคุณควรตอบให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อความแม่นยำในการตรวจ สำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจด้วย เพราะการตรวจบางโปรแกรมอาจเป็นอันตรายต่อทารก เช่น การเอกซเรย์ การตรวจแมมโมแกรม หรือการตรวจอื่น ๆ ที่อาจต้องใช้รังสีในการตรวจร่วมด้วย 

8.เตรียมตัวเดินทาง

การตรวจสุขภาพส่วนใหญ่นิยมทำตอนเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น การตรวจเลือด การตรวจฮอร์โมน และการตรวจการได้ยิน คุณควรเตรียมตัววางแผนการเดินทางให้ดี และควรไปถึงก่อนเวลานัดเล็กน้อย เพื่อไปตรวจสุขภาพให้ทันเวลา

นอกจากการเตรียมตัวที่ได้เล่ามาทั้งหมดนี้แล้ว การตรวจสุขภาพด้านอื่น ๆ อาจมีวิธีเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพที่ต่างกันออกไป เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ที่ต้องใช้ยาช่วยถ่ายล้างลำไส้ การตรวจสายตาไม่ควรตรวจหลังใช้สายตาหนัก หรือควรเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งคุณควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

ตรวจสุขภาพสำคัญกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าจะโรคไหน ๆ ถ้ารู้เร็ว มีโอกาสรักษาได้มากกว่า เลือกแพ็กเกจการตรวจสุขภาพให้ตรงกับความต้องการในราคาประหยัดได้ที่ HDmall หรือหากคุณไม่รู้จะเริ่มจากแพ็กเกจไหน แอดมินของเราช่วยแนะนำได้ คลิกที่นี่ 

มีคำถามเกี่ยวกับ ตรวจสุขภาพ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ