เมื่อพูดถึงการตรวจอัลตราซาวด์ นอกจากการอัลตราซาวด์ท้องในคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว เราอาจเจอการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องในรายการตรวจสุขภาพประจำปี แล้วการตรวจอัลตราซาวด์บอกความผิดปกติอะไรเกี่ยวกับช่องท้องเราได้บ้าง ใครจำเป็นต้องตรวจ บทความนี้จะชวนคุณมาทำความเข้าใจกับอัลตราซาวด์ช่องท้องให้มากขึ้น
สารบัญ
อัลตราซาวด์ช่องท้อง คืออะไร
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นการตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง ประกอบด้วยตับ ตับอ่อน ไต ม้าม กระเพาะปัสสาวะ ถุงน้ำดีและท่อน้ำดี หลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดอื่น ๆ ที่เชื่อมกับอวัยวะเหล่านี้ โดยส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่หูเราไม่ได้ยินผ่านหัวตรวจ เข้าไปกระทบกับอวัยวะในช่องท้องแล้วสะท้อนกลับมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอมอนิเตอร์ ทำให้แพทย์เห็นขนาด ตำแหน่ง รูปร่าง และความหนาแน่นของอวัยวะนั้น ๆ ได้ทันที
อัลตราซาวด์ช่องท้อง บอกความผิดปกติอะไร
โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์ช่องท้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ช่องท้องส่วนบน และช่องท้องส่วนล่าง
1. การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Upper Abdomen Ultrasound)
เป็นการตรวจอวัยวะเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ ตับอ่อนบางส่วน ถุงน้ำดี ม้าม ท่อน้ำดีส่วนต้น ไต หลอดเลือดแดงใหญ่ และช่องท้องส่วนบนอื่น ๆ การตรวจช่องท้องส่วนนี้จะช่วยบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในข้างต้น เช่น
- โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดีและถุงน้ำดี เช่น ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
- ความผิดปกติของตับหรือโรคตับ เช่น ไขมันพอกตับ มะเร็งตับอ่อน ก้อนที่ตับ
- ความผิดปกติของไตหรือโรคไต เช่น นิ่วในไต ไตบวมน้ำ
- ม้ามโต
- ภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง (Abdominal Aortic Aneurysm)
2.การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Lower Abdomen Ultrasound)
เป็นการตรวจอวัยวะต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ มดลูกและรังไข่ในผู้หญิง ต่อมลูกหมากในผู้ชาย และไส้ติ่ง สามารถบอกความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในข้างต้น เช่น
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และความผิดปกติอื่น ๆ ของกระเพาะปัสสาวะ
- ความผิดปกติของต่อมลูกหมาก
- ความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ เช่น ซีสต์รังไข่ เนื้องอกในรังไข่ เนื้องอกในมดลูก
- ไส้ติ่งอักเสบ
นอกจากอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่างแล้ว ยังมีการอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด (Upper Abdomen Ultrasound) ที่สามารถตรวจอวัยวะในช่องท้องให้ครอบคลุมทั้งส่วนบนและส่วนล่างในคราวเดียว
อัลตราซาวด์ช่องท้อง เหมาะกับใคร
- คนที่มีอาการปวดท้องเป็นประจำ หรือปวดท้องเรื้อรัง ไม่หายขาด
- ผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติเป็นประจำ หรือประจำเดือนมาผิดปกติ
- คนที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด จุกเสียด และอาหารไม่ย่อย
- คนที่มีปัญหาในการขับถ่ายหรือปัสสาวะผิดปกติ
- ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 30 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องพร้อมกับการตรวจสุขภาพ
ถ้าคุณกำลังมีปัญหาขับถ่าย ปวดท้องที่หาสาเหตุไม่ได้ ประจำเดือนผิดปกติ อย่าลังเลที่จะหาสาเหตุ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องไม่ยุ่งยาก ราคาไม่สูงอย่างที่คิด HDmall.co.th รวมแพ็กเกจอัลตราซาวด์ช่องท้องไว้ให้แล้ว จะเลือกช่องท้องส่วนบน ส่วนล่าง หรือช่องท้องทั้งหมด คลิกได้เลย หรือไม่แน่ใจต้องเลือกแพ็กเกจไหน สอบถามแอดมินผ่านแชทได้ ที่นี่
ก่อนอัลตราซาวด์ช่องท้อง เตรียมตัวอย่างไร
วันที่เข้ารับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย เพื่อเปลี่ยนเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ก่อนเข้ารับการตรวจ และไม่ใส่เครื่องประดับทุกชนิดใกล้บริเวณที่ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อไม่ให้รบกวนการส่งคลื่นเสียง คนที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ สามารถรับประทานยาได้ตามปกติ และจิบน้ำได้เล็กน้อย
การงดอาหารและน้ำก่อนตรวจ จะขึ้นอยู่กับอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนไหน และปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล ส่วนมากแล้วอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้ เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารและลำไส้พองตัวจากอาหารจนไปบดบังอวัยวะอื่น ๆ และไม่ให้ถุงน้ำดีหดตัวจากการปล่อยน้ำดีมาช่วยย่อยอาหาร ทำให้มองเห็นถุงน้ำดีได้ไม่ชัดเจน
ถ้าเป็นอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ อย่างน้อย 500 มิลลิลิตร และกลั้นปัสสาวะไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะขยายตัวไปดันลำไส้ออกไป ทำให้มองอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนขึ้น สำหรับคนที่อัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด ต้องงดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ดื่มน้ำเปล่า ๆ มาก และต้องกลั้นปัสสาวะไว้ ยกเว้นแพทย์สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิด
ขั้นตอนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องไม่ยุ่งยาก ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 10-45 นาที ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตรวจ
- ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออก เปลี่ยนเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
- นอนบนเตียงตรวจในท่านอนหงาย
- แพทย์หรือพยาบาลจะทาเจลเย็นบริเวณหน้าท้องส่วนที่จะตรวจ เพื่อช่วยในการส่งสัญญาณคลื่นได้ดีขึ้น
- แพทย์จะวางหัวตรวจให้แนบสนิทกับหน้าท้อง กดหัวตรวจเบา ๆ พร้อมกับเคลื่อนหัวตรวจไปมาให้ทั่วบริเวณ และอาจขอให้ผู้เข้ารับบริการปรับเปลี่ยนท่าทางหรือกลั้นหายใจสักครู่ เพื่อให้มองเห็นอวัยวะได้ชัดเจนขึ้น
- แพทย์หรือพยาบาลจะเช็ดเจลออกจากผิวหนัง และให้ผู้เข้ารับบริการเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับชุดเดิม
หลังการตรวจสามารถเดินทางกลับบ้านและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ผลตรวจจะถูกส่งไปให้นักรังสีวิทยาวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวด์ และแจ้งผลกลับไปยังแพทย์อีกครั้ง แพทย์จะอธิบายให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจทราบว่าผลการตรวจเป็นปกติหรือไม่ ถ้าตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำหรือช่วยวางแผนการตรวจเพิ่มเติมในขั้นต่อไป
ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเจ็บไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า
อัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ไม่มีการใช้รังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างให้นมลูก และไม่ทำให้เจ็บ ยกเว้นบริเวณที่ตรวจมีความปกติอยู่ก่อนแล้ว อาจทำให้รู้สึกเจ็บเล็กน้อย ถ้ารู้สึกเจ็บบริเวณใดในระหว่างตรวจ ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
ข้อจำกัดของอัลตราซาวด์ช่องท้อง
อัลตราซาวด์ช่องท้องอาจมีข้อจำกัดบางประการ คือ คลื่นเสียงไม่สามารถส่งผ่านอากาศหรือลมได้ ทำให้ไม่สามารถสะท้อนคลื่นสัญญาณกลับมาได้หมด จึงไม่เหมาะกับการตรวจอวัยวะที่มีลมอยู่ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ และอวัยวะที่มีกระดูก รวมไปถึงไม่เหมาะกับการตรวจในคนรูปร่างใหญ่หรือเป็นโรคอ้วน เพราะคลื่นเสียงอาจส่งผ่านเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดีพอ ทำให้ภาพที่ได้อาจไม่ชัดเจน
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเป็นการตรวจที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ใช้เวลาไม่นาน ไม่เจ็บตัว เตรียมตัวไม่ยุ่งยาก และช่วยวินิจฉัยโรคได้มากมาย เห็นข้อดีแบบนี้แล้ว ตรวจสุขภาพเมื่อไรอย่าลืมเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องรวมอยู่ด้วยน่าจะดีไม่น้อย
ช่องท้องผิดปกติไหม บอกไม่ได้ถ้าไม่ได้อัลตราซาวด์ดู! ตรวจก่อนวันนี้ ลดความเสี่ยงโรคได้ดีกว่า หาโปรหรือแพ็กเกจอัลตราซาวด์ช่องท้องได้ที่ HDmall.co.th มีส่วนลดเพิ่มให้ทุกครั้งที่จอง พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดฟรี เลือกสถานที่ที่สนใจแล้วแชทบอกแอดมินได้เลย ที่นี่