การได้ยินเสียง เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้าที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
อ้างอิงจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2555 พบว่า ในประชากรโลกจำนวน 360 ล้านคน มีผู้พิการทางการได้ยินเสียงคิดเป็น 5.3% ของประชากรโลกทั้งหมด
ดังนั้นการตรวจการได้ยินเสียงจึงเป็นหนึ่งในการทดสอบที่มีความสำคัญ เพื่อที่จะได้พบผู้ที่มีปัญหาในการได้ยินตั้งแต่ในระยะแรกๆ และให้การรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาด้านการได้ยินเสียงที่อาจจะแย่ลงในอนาคต
สารบัญ
ทารก เด็ก ผู้ใหญ่ ควรเริ่มตรวจการได้ยินเมื่อไร?
คนแต่ละช่วงวัยมีความจำเป็นที่ควรเริ่มตรวจการได้ยินแตกต่างกัน ดังนี้
1. การตรวจการได้ยินในทารกแรกเกิดและเด็ก
คณะกรรมการการตรวจการได้ยินในเด็ก (Joint committee on infant hearing: JCIH) มีการกำหนดให้มีการตรวจคัดกรองการได้ยินเสียงในเด็กทารกแรกเกิดทุกคน โดยใช้เครื่องมือตรวจคัดกรองการได้ยินก่อนอายุ 1 เดือน
หากตรวจคัดกรองเบื้องต้นไม่ผ่าน จะต้องได้รับการตรวจยืนยันว่ามีการสูญเสียการได้ยิน โดยให้เข้ารับการประเมินทางการได้ยินและการตรวจประเมินทางการแพทย์ก่อนอายุ 3 เดือน
สุดท้าย หากมีการยืนยันว่ามีการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร จะต้องได้รับการฟื้นฟูการได้ยินทันทีภายในอายุไม่เกิน 6 เดือน
นอกจากการตรวจคัดกรองในเด็กทารกแรกเกิดแล้ว หากพบว่าเด็กที่โตมามีความผิดปกติที่เกี่ยวกับหูและการได้ยิน ตลอดจนการมีพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดที่ไม่สมวัย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อขอตรวจการได้ยินเสียง
2. การตรวจการได้ยินในผู้ใหญ่
หากสงสัยว่ามีความผิดปกติที่เกี่ยวกับหูและการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงลดลง มีอาการปวดหู หูอื้อ มีเสียงรบกวนในหู หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ได้รับเสียงดังอย่างกะทันหัน ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจคัดกรองการได้ยินเสียง
วิธีตรวจการได้ยิน ใครตรวจ และมีขั้นตอนอย่างไร?
แพทย์เฉพาะทางที่ทำการตรวจเกี่ยวกับการได้ยินเสียง คือ แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist)
การตรวจการได้ยินจะเริ่มต้นด้วยการส่องดูด้านในภายในรูหูด้วยเครื่องมือที่ใช้ส่องหู (Otoscope) เพื่อดูความสมบูรณ์หรือความผิดปกติของเยื่อแก้วหู รวมสิ่งต่างๆ ด้านในรูหู
นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ส้อมเสียง (Tuning fork) ทำการทดสอบการได้ยินเสียงเบื้องต้น โดยการวางส้อมเสียงที่บริเวณหน้าผาก กระดูกด้านหลังใบหู และบริเวณด้านหน้าของใบหู
วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ความผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยินเสียงเป็นแบบไหน
หากมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียง แพทย์จะทำการพิจารณาส่งตรวจการได้ยินที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อนำผลมาวินิจฉัยต่อไป
วิธีตรวจการได้ยิน มีแบบไหนบ้าง?
ในปัจจุบัน การตรวจการได้ยินเสียงโดยเครื่องมือมีหลายแบบ หลายวิธี
ตัวอย่างการตรวจและวิธีที่นิยมใช้ รวมถึงรายละเอียดการตรวจแบบต่างๆ มีดังนี้
1. การตรวจสมรรถภาพและระบบการได้ยิน (Audiometry หรือ Audiometric test)
เป็นวิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติทั้งหูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน และเส้นประสาทหู
โดยส่วนใหญ่จะสามารถตรวจได้ในเด็กโตเป็นต้นไป เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่รับการทดสอบ
การตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure tone) และใช้คำพูดทดสอบการได้ยินเสียง โดยจะค่อยๆ ลดความดังลงทีละระดับ แล้วให้ผู้ที่รับการทดสอบตอบสนอง
ผู้ที่มีการได้ยินปกติจะเริ่มได้ยินเสียงอยู่ระหว่าง -10 ถึง 25 เดซิเบล หากเสียงดังกว่า 25 เดซิเบลแล้วยังไม่ได้ยิน จะถือว่ามีความผิดปกติของการได้ยินเสียง
2. การตรวจวัดการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry)
การตรวจนี้ทำโดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับหูฟังเข้าไปในรูหูผู้รับการตรวจ
อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำการปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในรูหู แล้ววัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมา เพื่อบ่งบอกการขยับตัวของเยื่อแก้วหูออกมาเป็นกราฟ ซึ่งจะใช้ในการแปลผลโดยแพทย์ต่อไป
3. การตรวจ OAEs (Otoacoustic Emissions)
เป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับจากหูชั้นใน (Inaudible sound-pressure wave) ผ่านออกมายังรูหู หลังจากได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นเสียง
การตรวจนี้ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่ได้รับการทดสอบ จึงสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินเสียงในทารกแรกเกิดได้
4. การตรวจ ABR (Auditory brainstem response)
เป็นการตรวจการตอบสนองของก้านสมองต่อการกระตุ้นด้วยเสียง แล้วบันทึกเป็นคลื่นไฟฟ้าออกมา
การตรวจนี้ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่ได้รับการทดสอบเช่นกัน จึงสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินเสียงในทารกแรกเกิดได้
ก่อนตรวจการได้ยิน ผู้รับการตรวจควรเตรียมตัวอย่างไร?
ผู้จะเข้าทดสอบการได้ยินเสียงด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ นั้น ควรจะทำความเข้าใจวิธีและขั้นตอนต่างๆ ก่อนดำเนินการทดสอบ
เนื่องจากหากไม่เข้าใจดีอาจส่งผลต่อผลการทดสอบได้ และอาจจำเป็นต้องเริ่มทำการทดสอบใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการทดสอบการได้ยินเสียงด้วยวิธีต่างๆ ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
หากเป็นไข้หวัดควรจะแจ้งให้ผู้ที่ควบคุมการทดสอบทราบ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการได้ยินและการทดสอบ
ตรวจหู หรือตรวจการได้ยิน ที่ไหนดี?
หากมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับหูและการได้ยิน สามารถไปพบแพทย์ทั่วไปเพื่อทำการทดสอบเบื้องต้นได้ทุกสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
ทั้งนี้การทดสอบด้วยวิธีพิเศษนั้นจะมีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่และบางโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากข้อจำกัดด้านเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการทดสอบ และการแปลผลการทดสอบต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูกเป็นผู้ดำเนินการ
หากต้องการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายในการทดสอบการได้ยินเสียงด้วยวิธีพิเศษต่างๆ นั้นอยู่ในช่วงราคาประมาณ 500-1,000 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการทางการแพทย์)
เขียนบทความโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล