ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตัวช่วยวินิจฉัย ปลอดภัย ไม่เจ็บ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคร้ายที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในปัจจุบัน นอกจากการดูแลรักษาตัวเองด้วยการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การหมั่นสังเกตและตรวจเช็กร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้อาการผิดปกติในลำไส้ใหญ่พัฒนาเป็นมะเร็ง เมื่อรู้เร็วการรักษาก็จะง่ายขึ้น

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่คืออะไร?

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือการใช้อุปกรณ์ที่ลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นได้ มีกล้องและดวงไฟที่ปลายเพื่อให้มีแสงเพิ่มความคมชัดในการตรวจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพภายในลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจนและสามารถตรวจรักษาอาการได้อย่างแม่นยำ

ประโยชน์ของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ประโยชน์ของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ไม่เพียงช่วยวินิจฉัยอาการป่วยเพื่อรักษาโรคเท่านั้นแต่ยังมีประโยชน์อื่นด้วย

  • ช่วยในการประเมินอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับลำไส้ใหญ่ เช่น ความเจ็บปวด มีเลือดออก ท้องเสียเรื้อรัง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ
  • การเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แบบคัดกรองสำหรับบุคคลทั่วไปช่วยตรวจเช็กลำไส้ใหญ่ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • กรณีตรวจพบติ่งเนื้อหรืออาการผิดปกติ แพทย์สามารถตรวจรักษาได้ง่ายหรือก่อนที่ติ่งเนื้อจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • กรณีตรวจพบติ่งเนื้อที่เป็นมะเร็งลำไส้ หากพบเร็วและอยู่ในระยะเริ่มต้นโอกาสรักษาหายขาดจะมีมากขึ้นตามลำดับ

ใครควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่?

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจรักษาเท่านั้น ยังมีบุคคลต่อไปนี้ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจเช็กด้วย

  • ผู้มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก ท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย เป็นต้น
  • ผู้ที่อุจจาระมีเลือดปน อาจเป็นสีแดงสดหรือสีแดงคล้ำ มีกลิ่นเหม็นคาวผิดปกติ
  • เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมากจากทวารหนักและมีเลือดออก
  • มีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • อุจจาระมักมีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวเหมือนเส้นขนมจีน
  • เมื่อคลำบริเวณท้องพบว่าเหมือนมีก้อนอยู่ข้างใน
  • น้ำหนักลด ตัวซีด อ่อนเพลีย
  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการส่องกล้องทุกๆ 3-5 ปี
  • ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากเคยตัดติ่งเนื้อออกระหว่างส่องกล้องตรวจลำไส้ครั้งก่อน
  • ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน
  • ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ ผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ควรทำบ่อยแค่ไหน?

ปัจจัยที่กำหนดความถี่ในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุและความเสี่ยงโดยมีรายละเอียด คือ

  • บุคคลทั่วไปควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกๆ 10 ปีเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ๆ ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกๆ 1-5 ปี

ทั้งนี้สำหรับผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงความถี่ในการส่งกล้องลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่วินิจฉัยของแพทย์เป็นผู้กำหนดในผู้ป่วยแต่ละราย

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ผู้เข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการส่องกล้อง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประสิทธิภาพในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทั่วไปมักต้องปฏิบัติดังนี้

  • ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัด การแพ้ยา และยาที่ต้องรับประทานประจำ
  • วันที่ 3 และวันที่ 2 ก่อนส่องกล้องสำไส้ใหญ่ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย งดอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้
  • 1 วันก่อนส่องกล้องสำไส้ใหญ่ให้รับประทานเฉพาะอาหารเหลว เช่น น้ำซุป น้ำหวาน นม
  • ในบางรายแพทย์อาจให้รับประทานยาระบายร่วมด้วย เพื่อให้ลำไส้สะอาดที่สุด สามารถมองเห็นพยาธิสภาพได้ชัดเจน
  • ควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ
  • คืนก่อนวันส่องกล้องสำไส้ใหญ่ตรวจ งดอาหารและน้ำดื่ม จนกว่าจะทำการตรวจ
  • ควรพาญาติมาช่วยดูแลด้วย เนื่องจากฤทธิ์ของยานอนหลับที่แพทย์ฉีดให้จะยังตกค้างหลังการส่องกล้อง มีผลทำให้ความสามารถในการตัดสินใจและการควบคุมร่างกายลดลงชั่วคราว

ขั้นตอนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ขั้นตอนการส้องกล้องลำไส้ใหญ่ไม่ยุ่งมากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

  1. จัดท่าทางให้ผู้เข้ารับการส่องกล้องนอนตะแคงไปด้านซ้าย ให้ก้นของผู้เข้ารับการส่องกล้องนั้นชิดริมเตียง งอเข่าให้ชิดกับหน้าอก
  2. คลุมด้วยผ้าสะอาด มีช่องเปิดที่ก้น
  3. แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวดเพื่อให้ผู้เข้ารับการส่องกล้องรู้สึกผ่อนคลายขณะทำหัตถการ
  4. แพทย์จะใช้กล้อง Colonoscope ซึ่งเป็นท่อขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ สอดกล้องเข้าทางทวารหนักอย่างช้าๆ เข้าไปถึงส่วนของลำไส้ใหญ่พร้อมๆ กับเป่าลมเพื่อให้ลำไส้ขยายช่วยให้การส่องกล้องง่ายขึ้น ผู้เข้ารับการส่องกล้องอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรือแน่นอึดอัดท้อง อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้ด้วยการ หายใจเข้าออกช้าๆ ปล่อยตัวตามสบาย หากรู้สึกแน่นอึดอัดท้องมากจนทนไม่ไหว ให้แจ้งแพทย์ แพทย์จะดูดลมออกให้ ห้ามดิ้นโดยเด็ดขาด ในบางรายแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
  5. หากพบสิ่งผิดปกติแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

การดูแลหลังส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ถึงแม้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยแต่ยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย

  • หลังจากส่องกล้องลำไส้ใหญ่ผู้เข้ารับการส่องกล้องจะต้องนอนพักที่ห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อสังเกตอาการจากการได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างการตรวจ และสังเกตว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
  • หลังการตรวจอาจจะมีลมหรือรู้สึกแน่นในท้องซึ่งเกิดจากการที่แพทย์ใส่ลมไปในลำไส้ระว่างการตรวจเพื่อช่วยขยายโพรงลำไส้ ซึ่งจะระบายลมออกหมดเองภายในเวลาไม่กี่นาที
  • เมื่อแพทย์เห็นว่าอาการปลอดภัยดีแล้วจึงให้ญาติรับกลับบ้านได้ โดยไม่อนุญาตให้ผู้เข้ารับการส่องกล้องขับยานพาหนะด้วยตนเอง
  • เมื่อผู้เข้ารับการส่องกล้องรู้สึกตัวเป็นปกติดีแล้ว ก็สามารถเริ่มดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • ผู้เข้ารับการส่องกล้องต้องงดการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร การขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรม การตัดสินใจหรือใช้วิจารณญาณ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตรวจ เนื่องจากฤทธิ์ยานอนหลับยังอาจมีผลต่อการตัดสินใจ และอาจยังมีปฏิกิริยาต่อร่างกายอยู่
  • หลังการตรวจอาจยังมีเลือดปนเล็กน้อยบริเวณทวารหนัก แต่หากมีเลือดออกมากผิดปกติ หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ท้องแข็ง มีไข้สูง ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ทันที

ผลลัพธ์การส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ผลลัพธ์การส่องกล้องลำไส้ใหญ่แบ่งได้ 2 ทาง

1. ผลลัพธ์เชิงลบ

ผลลัพธ์เชิงลบ คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ที่ไม่พบอาการหรือติ่งเนื้องอกผิดปกติ แต่ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีอื่นหรือตรวจซ้ำเพราะ

  • ผู้เข้ารับการตรวจเป็นผู้มีประวัติเป็นเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ผู้เข้ารับการตรวจที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่ตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กที่ไม่เป็นอันตราย 1-2 ชิ้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซ้ำภายใน 7 ถึง 10 ปี
  • ผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่ตรวจพบติ่งเนื้อขนาดที่ไม่เป็นอันตรายมากกว่า 2 ชิ้นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีอื่นหรือตรวจซ้ำเร็วกว่าผู้เข้ารับการตรวจที่ตรวจพบชิ้นเนื้อที่จำนวนน้อยและขนาดเล็กกว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ขณะส่องกล้องลำไส้ใหญ่พบอุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่ซึ่งทำให้การตรวจลำไส้ไม่ครบถ้วน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ซ้ำ

2. ผลลัพธ์เชิงบวก

ผลลัพธ์เชิงบวก คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ที่ถือเป็นผลบวกในกรณีแพทย์พบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกผิดปกติในลำไส้ใหญ่ โดยอาจเป็นชนิดมะเร็ง ติ่งเนื้อที่ถูกตัดออกระหว่างการตรวจลำไส้ใหญ่จะส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นหรือไม่ กรณีนี้ผู้เข้ารับการตรวจต้องปฏิบัติตามตารางการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด เพื่อค้นหาติ่งเนื้อมากขึ้นและแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจซ้ำกับแพทย์ทางเดินอาหารซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการกำจัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่หรือการผ่าตัด

กรณีที่แพทย์มีความเห็นให้ผู้เข้ารับการส่องกล้องลำใหญ่เข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อให้มั่นใจของผลการตรวจหรือเพื่อหาข้อเท็จจริงมีวิธีการอยู่หลายวิธีโดยขึ้นกับความเห็นของแพทย์ดังนี้

  • ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test)
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) ร่วมกับ การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่
  • การตรวจเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed tomography Colonoscopy)

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่เจ็บไหม?

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวด ดังนั้นผู้เข้ารับการส่องกล้องจะไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่อาจมีความรู้สึกอึดอัดในท้องหรืออยากขับถ่ายบ้างขณะที่แพทย์เป่าลมเข้าท้อง ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการส่องกล้องมักรู้สึกตัวอีกครั้งที่ห้องพักฟื้น และในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอก แพทย์จะสามารถทำการตัดเนื้องอกออกได้ทันที โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ใช้เวลานานไหม?

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยแบ่งเป็นการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนประมาณครึ่งชั่วโมง และใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง หลังจากนั้นพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง โดยผู้เข้ารับการส่องกล้องสามารถทราบผลการตรวจและสามารถกลับบ้านได้ทันทีหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ผลข้างเคียงของส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงจึงมีไม่มากและมีความรุนแรงน้อย โดยผลข้างที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • เป็นแผลที่ผนังลำไส้ เลือดออก ซึ่งพบได้น้อยมาก มักเกิดจากการที่ต้องตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เข้ารับการส่องกล้องไม่งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
  • อาจรู้สึกแน่น อึดอัดท้อง เจ็บบริเวณท้องน้อยหรือทวารหนัก แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อเรอหรือผายลมแล้ว
  • อาจเกิดการสำลักอาหาร น้ำลาย หรือกรดในกระเพาะอาหาร และอาจเกิดภาวะปอดอักเสบตามมา หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
  • อาจมีเลือดปนอุจาระออกมาเล็กน้อย แต่หากมีเลือดออกมามากผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก เหนื่อย เพลีย ปวดท้องมาก ถ่ายดำ ปวดบริเวณลำคอ ท้องแข็ง มีไข้สูงหลังการส่องกล้องให้รีบมาพบแพทย์ทันที
  • หากมีรอยทะลุที่โพรงคอด้านหลังหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งพบได้น้อยมากประมาณ 0.03 % จะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่มีประโยชน์และสำคัญมากทั้งการวินิจฉัยอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ยังมีประโยชน์ช่วยตรวจสภาพภายในลำไส้ใหญ่ให้ผู้อยู่ในกลุ่มผู้เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยหากพบติ่งเนื้อหรืออาการผิดปกติสามารถรักษาก่อนจะพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

เช็กราคาส่องกล้องลำไส้ใหญ่


ที่มาของข้อมูล

  • ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและห้องปฏิบัติการประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิปดี มหาวิทยาลัยมหิดล, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy), (https://www.rama.mahidol.ac.th/giendoscopy_center/th/colonoscopy)
  • อ.นพ.สุพจน์ นิ่มอนงค์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, เตรียมตัว!เมื่อส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร
  • The National Health Service (NHS),Colonoscopy, (https://www.nhs.uk/conditions/colonoscopy/)
Scroll to Top