อุณหภูมิร่างกายปกติคือเท่าไหร่? อุณหภูมิสูง-ต่ำ ของร่างกาย บ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง


อุณหภูมิร่างกายปกติ

อุณหภูมิร่างกายเป็นอีกตัวที่สามารถวัดความผิดปกติในร่างกายและจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่า อุณหภูมิร่างกายที่ปกติและไม่ปกติ อยู่ที่ประมาณเท่าไรกันแน่

นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้วิธีการวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างถูกต้อง และไม่รู้ว่า มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนอาจเข้าใจผิดว่า ตนเอง หรือคนใกล้ชิดกำลังป่วยอยู่

เรามาดูข้อมูลพร้อมกันว่า อุณหภูมิร่างกายปกติ เป็นอย่างไร แล้วมีวิธีตรวจสอบได้อย่างไรว่า อุณหภูมิร่างกายของคนเราอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

อุณหภูมิร่างกายคืออะไร?

อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature) คือ ระดับสมดุลความร้อนในร่างกายซึ่งจะมีความผันแปรไปตามปัจจัยรอบตัว รวมไปถึงเกิดจากการสร้างความร้อนของกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ในร่างกาย

อุณหภูมิร่างกายจะมีศูนย์ควบคุมสำคัญอยู่ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งจะตั้งอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส 

สมองส่วนไฮโปทาลามัสยังมีหน้าที่ควบคุมระบบบางส่วนของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ เพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมด้วย ได้แก่

  • การไหลเวียนของเลือดไปสู่ผิวหนังทั่วร่างกาย
  • การสร้างความร้อนภายในร่างกาย
  • การตั้งชันของเส้นขน
  • การขับเหงื่อของร่างกาย รวมถึงอาการหอบ

ชนิดของอุณหภูมิร่างกาย

แบ่งได้เป็น 2 ชนิด

  1. Surface Temperature เป็นอุณหภูมิร่างกายบริเวณผิวหนังของร่างกาย
  2. Core Temperature เป็นอุณหภูมิในส่วนแกนกลางของร่างกาย รวมถึงภายในระบบไหลเวียนเลือด ได้แก่ ทรวงอก ช่องท้อง หัวใจ หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดง

อุณหภูมิร่างกายของแต่ละช่วงวัย

อุณหภูมิร่างกายปกติของคนแต่ละช่วงวัยสามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

  • วัยทารก และเด็กเล็ก ควรมีอุณหภูมิร่างกายประมาณ 36.6-37.2 องศาเซลเซียส
  • วัยผู้ใหญ่ ควรมีอุณหภูมิร่างกายประมาณ 36.1-37.2 องศาเซลเซียส
  • วัยสูงอายุ หรือผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ควรมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 36.2 องศาเซลเซียส

ปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง

ทุกกิจกรรม รวมถึงภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นของเรามีผลต่ออุณหภูมิของร่างกายทั้งนั้น ได้แก่

  • อายุ สภาพร่างกายของคนแต่ละช่วงวัยจะไม่เหมือนกัน เช่น ผู้สูงอายุจะมีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และปริมาณไขมันน้อยลงกว่าคนวัยอื่น จึงมักมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าคนวัยอื่น
  • เวลาระหว่างวัน ในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัน อุณหภูมิร่างกายของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 1 องศาเซลเซียส โดยช่วงเวลาที่อุณหภูมิร่างกายสูงที่สุดจะอยู่ในช่วงประมาณ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงวัน และจะอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงนอนหลับคือ ช่วงตี 4 ถึง 6 โมงเช้า
  • เพศ โดยปกติอุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือน อุณหภูมิร่างกายอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.5 องศาเซลเซียส
  • กิจกรรมที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น หากคุณกำลังออกแรง หรือออกกำลังกาย อัตราการเผาผลาญของร่างกายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปด้วย
  • สภาพแวดล้อม การนั่งอยู่ในบริเวณที่แดดจัด อบอ้าว หรืออยู่ในห้องแอร์ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายมีการเพิ่ม หรือลดลงแตกต่างกันไป เหมือนเหงื่อที่ออกเวลาเราร้อน กับผิวที่เย็นเมื่อนั่งอยู่ในห้องที่อากาศหนาวนานๆ
  • รูปร่าง ผู้ที่มีรูปร่างผอมจะมีชั้นไขมันใต้ผิวหนัง รวมถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังน้อย ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงได้ง่ายกว่า
  • อาหาร การรับประทานอาหารร้อนจัด หรือเครื่องดื่มร้อนๆ ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิในช่องปากเพิ่มมากขึ้นได้
  • ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การใช้ยาบางชนิด เหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนและยากจะวินิจฉัยให้แม่นยำถูกต้องได้

นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว เชื่อไหมว่า "ความเครียด" ก็มีผลต่อระดับอุณหภูมิของร่างกายเช่นเดียวกัน ผู้ที่มีระดับความเครียดสูงกว่าปกติ จะทำให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย และทำให้ร่างกายผลิตความร้อนมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ความเครียดมีหลายระดับและหลากหลายรูปแบบ บางคนก็เครียดโดยไม่รู้ตัว แต่ปัจจุบันมีบริการตรวจวิเคราะห์ความเครียด (Stress) ตามสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลต่างๆ จุดมุ่งหมายเพื่อให้คุณรู้ว่า "คุณกำลังมีความเครียดอยู่หรือไม่" 

หากพบว่า มีความเครียดจะต้องจัดการ หรือแก้ไขความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างไร ให้ถูกต้องและเหมาะสม

โรค หรือความผิดปกติที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อุณหภูมิร่างกายคือ ตัวบ่งบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้นของร่างกายได้ ซึ่งโรค หรือความผิดปกติที่มักเป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่

  • เป็นไข้ เป็นหนึ่งในอาการของหลายๆ โรค เช่น โรคไข้หวัด โรคปอดอักเสบ โรคไข้เลือดออก เป็นอาการที่อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นกว่าปกติ โดยอยู่ที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งหากมีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส ควรรีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการช็อก

  • ภาวะตัวร้อนผิดปกติ (Hyperthermia) เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ อาจเกิดจากการออกกำลังกายหนักเกินไป การติดเชื้อ หรืออวัยวะภายในเกิดการอักเสบ จนทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส

  • ภาวะตัวเย็นผิดปกติ (Hypothermia) เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อน หรืออยู่ในสถานที่เย็นเกินไป จนอุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส รวมถึงระบบการหายใจลดต่ำ หรือหัวใจหยุดเต้นลง

  • เป็นลมแดด (Heat Stroke) เป็นอาการที่ร่างกายจะอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 40.5 องศาเซลเซียส มีสาเหตุจากการอยู่ในที่ร้อนจัด หรือสัมผัสแดดจัดนาน รวมถึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ รวมกับมีอาการกระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน มึนงง

  • อาการขาดน้ำ (Dehydration) เป็นอาการที่ร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอจนผิวหนังแห้ง อ่อนเพลีย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่าเดิม และชีพจรเต้นเร็ว

วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างเหมาะสม

อุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายในปัจจุบันที่นิยมใช้กันได้แก่

  • ปรอทแก้ววัดไข้
  • ปรอทวัดไข้ดิจิตอล
  • ปรอทวัดไข้ทางหู
  • เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด

การวัดอุณหภูมิร่างกายสามารถวัดได้หลักๆ 5 ช่องทาง ได้แก่

  • ทางปาก จะใช้ปรอทแก้ววัดไข้ หรือปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลสอดไว้ใต้ลิ้นแล้วหุบปากให้สนิท ก่อนจะทิ้งไว้ประมาณ 2 นาที แล้วนำออกมาเช็ดปลายปรอทด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ แล้วอ่านค่าระดับอุณหภูมิร่างกาย
  • ทางรักแร้ ใช้ปรอทวัดไข้ชนิดเดียวกับที่ใช้ทางปาก โดยให้หนีบปรอทไว้ที่ซอกรักแร้ ให้กระเปาะปรอทอยู่กึ่งกลางของรักแร้ แล้วหนีบให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที จากนั้นนำออกมาอ่านค่าระดับอุณหภูมิ แล้วค่อยทำความสะอาด
  • ทางทวารหนัก จะใช้ปรอทวัดไข้สำหรับสอดเข้าทางทวารหนักโดยเฉพาะ โดยจะใช้เจลทาที่ทวารหนักก่อน แล้วสอดปรอทเข้าไปในทวารหนักลึกประมาณ 1 นิ้ว เป็นเวลา 2 นาที นำออกมาทำความสะอาด แล้วจึงอ่านค่าระดับอุณหภูมิ วิธีนี้นิยมตรวจเฉพาะในเด็กเล็ก
  • ทางหู มักตรวจโดยใช้ปรอทวัดไข้ทางหูโดยเฉพาะ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด ผ่านการใช้วิธีจ่ออุปกรณ์วัดใกล้กับรูหูผู้เข้าตรวจ แล้วตัวเลขค่าอุณหภูมิร่างกายจะแสดงออกมาทางจอบนเครื่อง สำหรับปรอทวัดไข้ทางหู ทางผู้ตรวจจะต้องดึงใบหูผู้เข้าตรวจขึ้น และดึงไปด้านหลังเพื่อให้ง่ายต่อการสอดอุปกรณ์เข้าไปในรูหูเพื่อวัดอุณหภูมิด้วย
  • ทางหน้าผาก จะตรวจโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรดเช่นเดียวกัน โดยผู้ตรวจจะหันปลายเครื่องวัดที่หน้าผากผู้เข้าตรวจแล้วกดปุ่มวัด จากนั้นตัวเลขค่าอุณหภูมิจะแสดงออกมาทางจอบนเครื่อง

สำหรับความแม่นยำในการตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจทางหูและทวารหนักจะเป็นการตรวจที่บอกค่าอุณหภูมิร่างกายถูกต้องที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้การวัดอุณหภูมิออกมาแม่นยำ มีหลายอย่าง เช่น

  • คุณภาพของอุปกรณ์ตรวจ
  • ผู้เข้าตรวจอาบน้ำอุ่น ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำเย็นมาก่อนตรวจวัด
  • ผู้เข้าตรวจออกกำลังกายมาก่อนตรวจวัดอุณหภูมิ
  • ผู้เข้าตรวจมีเหงื่อออกระหว่างตรวจ
  • ผู้เข้าตรวจขยับตัว ไม่อยู่นิ่งขณะวัดอุณหภูมิ
  • สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้เข้าตรวจหนาว หรือร้อนจัด
  • ผู้เข้าตรวจมีภาวะขาดน้ำขณะตรวจวัด

อุณหภูมิร่างกายเป็นค่าตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ด้วยปัจจัยรอบตัวซึ่งล้วนสามารถส่งผลทำให้ค่าอุณหภูมิเปลี่ยนไปได้ คุณไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลกับค่าอุณหภูมิที่แสดงออกมาเวลาตรวจวัด เพียงแค่รักษาระดับสมดุลความร้อนให้อยู่ในเกณฑ์ไม่ผิดปกติก็พอ

หรือหากรู้ว่า ตนเองมีอาการหนาวสั่น รู้สึกตัวร้อนผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่า ร่างกายมีความผิดปกติในส่วนใด จะได้แก้ไข หรือทำการรักษาได้ทันท่วงที


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat