รู้จัก “หมอเบิ้ล” ผู้เปลี่ยนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง


ทำความรู้จักนายแพทสุทธิเกียรติ จรดล หรือหมอเบิ้ล แพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง และผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ผ่านบทสัมภาษณ์จาก HDcare

เลือกอ่านบทความจากหมอเบิ้ล

ปัจจุบันผมเป็นนายแพทย์เชี่ยวชาญประจำกลุ่มงานศัลยกรรม มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และรับผิดชอบดูแลในคลินิกผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี

แล้วก็เป็นแพทย์ปรึกษางานนอกเวลาราชการที่ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูงของโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน กับโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

ทำไมถึงมาเป็นคุณหมอด้านเทคนิคส่องกล้อง?

ส่วนตัวผมชอบเทคนิคในด้านการผ่าตัดส่องกล้อง เพราะเป็นเทคนิคที่ช่วยให้คนไข้รับภาระจากการผ่าตัดลดน้อยลง แผลผ่าตัดตรงหน้าท้องค่อนข้างเล็ก ต่างกับเทคนิคการผ่าตัดแบบเดิม ที่มีแผลผ่าตัดยาวอย่างน้อย 1-2 ฟุต และเป็นแผลยาวตรงหน้าท้อง

การผ่าตัดส่องกล้อง หรือผ่านเครื่องมือส่องกล้องจะช่วยลดขนาดแผลโดยรวมลงได้เหลือไม่กี่เซนติเมตรเท่านั้นเอง ซึ่งมีผลต่อความเจ็บปวดหลังผ่าตัดของคนไข้ การฟื้นตัวและระยะเวลาในการฟื้นตัว

การผ่าตัดส่องกล้องถือว่าเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ไม่มีการหยุดนิ่ง มีการพัฒนาศักยภาพไปได้อีกในอนาคต เทคนิคนี้จะเป็นอนาคตของการผ่าตัดที่ล้ำหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

ประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้อง

ถ้านับหลังจากที่เรียนจบการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการมาก็ประมาณ 3 ปี แต่ถ้านับจากการเป็นศัลยแพทย์มีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องก็ประมาณ 10 ปี ได้แล้ว

เคยผ่าตัดส่องกล้องมาแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 300 เคส ทั้งการดูแลรักษาและให้การผ่าตัดคนไข้มาในช่วงที่เป็นการฝึกอบรมและหลังเรียนจบ

มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดกระเพาะเยอะไหม?

มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดกระเพาะเยอะมากกว่าที่เราคิดเลยครับ สมมติว่าเรามองออกไปในถนน เราจะเจอคนที่เขาค่อนข้างท้วมหรือว่าน้ำหนักเกิน เดินเหินแล้วรู้สึกว่าตัวน่าจะอึดอัดเยอะมาก เพียงแต่ว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทยจึงยังไม่ค่อยรู้จัก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมมีความเข้าใจในเรื่องโรคอ้วนมากขึ้นเยอะ จึงมีคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

สำหรับการผ่าตัดกระเพาะ มีจำนวนคนไข้อยู่ในความดูแลของผมค่อนข้างเยอะเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรอตรวจ และรอคิวการรักษา

เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะ?

การผ่าตัดกระเพาะไม่ใช่การผ่าตัดดูดไขมัน หรือการผ่าตัดลดน้ำหนักเพื่อความสวยงาม การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักสิ่งที่เรามุ่งเน้น คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้ด้วยการลดน้ำหนัก และลดความรุนแรงของโรคประจำตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

ในบางกรณี การผ่าตัดกระเพาะช่วยลดความเสี่ยงของคนไข้ที่มีโอกาสจะเป็นโรคเหล่านี้ โดยคนมักเข้าใจผิดว่าการผ่าตัดกระเพาะ เป็นการผ่าตัดเพื่อความสวยความงาม

นอกจากผ่าตัดส่องกล้อง ยังมีโรคอะไรที่คุณหมอถนัด?

โรคทางศัลยกรรมทั่วไปที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง เช่น การผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง ในกรณีที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ผ่าตัดซ่อมแซมไส้เลื่อน ไม่ว่าจะไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง หรือว่าไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้อง

การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อการลดน้ำหนักผ่านกล้อง มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งลำไส้ใหญ่บางชนิดที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้และผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบขัดข้อง ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ดูแลอยู่เป็นประจำ

ประสบการณ์ผ่าตัดกระเพาะที่ประทับใจ

สำหรับประสบการณ์ผ่าตัดที่ประใจ เป็นช่วงที่ผมเริ่มการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าใหม่ๆ ตอนนั้นคนไข้ยังไม่เยอะมากก็มีคนไข้อยู่ 1-2 คนที่เริ่มมาผ่าตัดช่วยประชาสัมพันธ์กับคนไข้คนที่สนใจในการผ่าตัดเข้ามารักษากันมากขึ้นเรื่อยๆ

ในกลุ่มคนไข้ผ่าตัดโรคอ้วนโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีคอมมูนิตี้ มี LINE Group และ Facebook Group ที่เขาอยู่ด้วยกันคอยให้คำปรึกษาแนะนำกันภายในกลุ่ม ทั้งคนที่ผ่าตัดไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการผ่าตัด หรือว่ายังไม่ได้ผ่าตัดคอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษากัน

ส่วนประสบการณ์ผ่าตัดที่ประทับใจเป็นคนไข้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงประมาณ 62 เป็นผู้ชายอายุประมาณ 30 กว่าปี อาชีพโปรแกรมเมอร์ ซึ่งอยากมาผ่าตัดเพราะรู้สึกว่าร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว ถ้าอยู่ต่อไปแบบนี้ เขาจะต้องอยู่ได้ไม่นาน

เขาเริ่มหาข้อมูลและได้มาปรึกษากับผม จากนั้นก็ได้รับการผ่าตัดกระเพาะกันไป ซึ่งเป็นการผ่าตัดกระเพาะแล้วก็หลังผ่าตัดน้ำหนักลงค่อนข้างดีมาก เปลี่ยนเสื้อผ้าไปหลายไซซ์ และก็มีความสุขขึ้นมาก เขาบอกว่ามันมีค่าใช้จ่ายจริง แต่ว่าการมาผ่าตัดเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างคุ้มที่สุดในชีวิต

สำหรับการให้ชีวิตใหม่ของคนไข้แต่ละคน ต้องบอกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก หรือความตั้งใจที่จะเข้ามารักษากับผม มันก็จะไม่เกิดจุดตรงนั้นขึ้น

สำหรับคนที่มีความตั้งใจความต้องการที่จะลดน้ำหนัก ผมเองก็พร้อมจะเป็นส่วนช่วยสำคัญ

เทคนิคการให้ข้อมูลและลดความกังวลของผู้ป่วยผ่าตัด?

การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก อาจดูเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับบางคน ลองนึกภาพว่ากระเพาะเราเดิมมีอยู่ 100% หายไป 80% เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร

สำหรับผมไม่ได้มีเทคนิคอะไรพิเศษ สิ่งที่ผมทำเป็นประจำ คือ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง ให้โอกาสคนไข้ได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการผ่าตัด การให้ข้อมูลหลังผ่าตัดในแง่ต่างๆ เช่น การกินอาหาร การปฏิบัติตัว และการดูแลหลังผ่าตัดที่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะไม่พึงประสงค์ต่างๆ

แล้วก็มีการดูแลต่อเนื่องติดตามผลคนไข้ที่ผมผ่าตัดไปเกือบทุกคน ตอนนี้ยังมีช่องทางที่จะสามารถติดต่อผมได้ตลอดโดยที่ไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลก็ได้

เพียงแต่ว่าในการติดต่อในช่องทางออนไลน์จะเป็นการให้ข้อมูลและนำกันในเบื้องต้น ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถให้การวินิจฉัยได้ 100% แต่เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนไข้ได้มีโอกาสในการถามข้อข้องใจแล้วก็คลายกังวลในเรื่องการเข้ารับการผ่าตัดครับ

ปกติวันพักผ่อนคุณหมอทำอะไรบ้าง?

วันพักผ่อนก็มีหลายกิจกรรมครับ ถ้าไม่ได้อยู่กับลูก จะมีการดูวิดีโอผ่าตัดเพื่อทบทวนการผ่าตัด ว่าการผ่าตัดที่เราทำไปมันมีตรงไหนที่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

ซึ่งก็มักจะมีอยู่เสมอเวลาเรามองตัวเองในสายตาของบุคคลที่ 3 เราจะพบเจออะไรที่ตอนนั้นเรานึกไม่ถึง จะช่วยให้การทำงานครั้งต่อไปของเราได้ดียิ่งขึ้น และดูเรื่องของเทคนิคการผ่าตัดการรักษาใหม่ๆ

นอกจากนี้ก็จะฟังพอดแคสต์ที่สนใจ เช่น เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ สังคมต่างๆ แต่ที่ให้ความสำคัญมากๆ คือให้เวลากับลูก พาเขาออกไปทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายสนามเด็กเล่นบ้างครับ

การถ่ายวิดีโอระหว่างผ่าตัดทำกันทุกคนไหม?

การถ่ายวิดีโอระหว่างผ่าตัด ถ้าเป็นหมอที่ทำการผ่าตัดส่องกล้องจะไม่แปลกใจเลย เพราะว่าในการผ่าตัดส่องกล้อง เราจะใช้การถ่ายทอดภาพจากกล้องที่ใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วยขึ้นมาบนหน้าจอให้เราดู

ระหว่างทางเราสามารถอัดวิดีโอได้ตลอดตามที่เราต้องการ เช่น อัดลง CD หรือ Flash Drive หรือ Hard Disk แล้วเราก็สามารถเอาวิดีโอที่อัดไว้ตลอดการผ่าตัดมานั่งทบทวนได้

ซึ่งในทางปฏิบัติของผม คนไข้ที่ผมทำการผ่าตัดส่องกล้องไปทุกเคสก็จะมีการอัดวิดีโอไว้ทั้งหมด แต่ว่าเป็นวิดีโอที่ไม่ได้มีการระบุถึงอัตลักษณ์ของผู้ป่วย เป็นวิดีโอที่ผมใช้ในด้านของทางการศึกษา หรือในด้านของการทบทวนในการผ่าตัดของตัวเอง

การอัดวิดีโอมีทำกันโดยทั่วไปของทางอาจารย์ หรือว่าทางรุ่นพี่รุ่นน้องที่จบทางผ่าตัดส่องกล้อง เชื่อว่าน่าจะทำกันเกือบทุกคน แต่ว่าใครจะเอามาดูบ่อยซ้ำแค่ไหนถือว่าเป็นเรื่องของเฉพาะบุคคล

ในห้องผ่าตัดมีความตึงเครียดเหมือนที่เราเห็นในซีรีส์ไหม?

ถามว่าความตึงเครียดมีไหม มีแน่นอน เพราะว่าเราทำการผ่าตัดอยู่กับร่างกายของมนุษย์

สำหรับความตึงเครียดในห้องผ่าตัดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่เป็นไปตามแผน ผ่าตัดไปได้ราบรื่นทุกอย่างก็จะไม่ได้มีความตึงเครียดอะไรมาก

ความตึงเครียดเล็กๆน้อยๆ เป็นเรื่องปกติในสายงาน เพียงแต่ว่าถ้าถามถึงความตึงเครียดที่มันสูงมากเหมือนในซีรีส์ หรือในละครขึ้นอยู่กับว่าในการผ่าตัดนั้นมันมีสิ่งที่ผิดพลาดไปหรือว่าสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นหรือเปล่า

วิธีการป้องกัน หรือจัดการความตึงเครียดไม่ให้เกิดความตึงเครียดในห้องผ่าตัด?

สำหรับวิธีการจัดการความตึงเครียด อันดับแรกต้องป้องกันก่อน การป้องกันคือขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมการในการผ่าตัดมาดีแค่ไหน รวมถึงการเตรียมร่างกายผู้ป่วยมาพร้อมรับการผ่าตัดที่เราจะทำหรือเปล่า

หรือการเลือกชนิดของการผ่าตัดให้เหมาะสมกับโรค และสภาพร่างกายของคนไข้ และวางแผนถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการผ่าตัด เช่น คนไข้คนนี้น้ำหนักค่อนข้างเยอะมากอาจจะมีความลำบากในการผ่าตัดตามขั้นตอน ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มันลำบากขึ้น เรามีแผนการรับมือยังไง

หากมีการวางแผนไว้ เมื่อเจอสถานการณ์ลำบากหน้างาน ความตึงเครียดก็จะลดลง เพราะว่าเราได้วางแผนมาแล้ว แต่ในกรณีที่มันเกิดขึ้นแล้ว เช่น เราคิดมาแล้วแต่ว่ามันไม่เป็นอย่างที่เราคิด หรือว่ามันอยู่นอกเหนือสิ่งที่เราควบคุมได้

อันดับแรกคือต้องใจเย็นๆ ห้ามร้อนรน การผ่าตัดเหมือนกันทุกอย่าง คือ “ยิ่งรีบยิ่งช้า ยิ่งรีบจะยิ่งอันตราย” ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราต้องเป็นคนที่ใจเย็นที่สุดในห้อง พยายามควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุดจะสามารถลดความตึงเครียดลดความรุนแรงของสถานการณ์ขึ้นมาได้

ซึ่งรายละเอียดก็จะต่างกันไปในสถานการณ์ผ่าตัด แต่ว่าหลักการของผมคือการใจเย็น อย่าร้อนรน ผมจะบอกทุกคนในทีมเสมอครับว่า “ใจเย็นๆ ไม่มีอะไร เดี๋ยวเราค่อยๆ ดูไป” แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี

เวลาผ่าตัดต้องใช้หมอคนเดียว หรือต้องใช้หมอหลายคน?

ขึ้นอยู่กับการผ่าตัด ความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ เช่น การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เรามักจะแนะนำให้มีหมออย่างน้อย 2 คนในการช่วยกันผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดความผิดพลาดในการผ่าตัดให้เกิดน้อยที่สุด

อย่างโรงพยาบาลเอกชนในหลายๆ ที่ หรือในโรงพยาบาลรัฐบาลก็จะมีข้อบังคับไว้ว่าถ้าเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่ระดับหนึ่ง เช่น การผ่าตัดมะเร็งการผ่าตัดกระเพาะอาหารบางอย่างจะต้องใช้คุณหมอร่วมกัน 2 คน

เป็นกฎของการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่ในบางกรณีถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก เช่น ตัดก้อนเนื้อเล็กๆ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ หรือการผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ซับซ้อน จะใช้หมอผ่าตัดที่มีการชำนาญเพียงคนเดียวก็ได้

HDcare ในมุมมองคุณหมอเป็นอย่างไร?

ในมุมมองของผม มองว่าเป็นตัวช่วยที่จะมาช่วยให้คนไข้ หรือว่าคนที่ประสงค์จะเข้ารับการรักษาโรคต่างๆ สามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น เพราะเวลาคนเราเจ็บป่วยบางครั้งข้อมูลในการรักษาโรคต่างๆ มีมากมายเต็มไปหมด

ไม่ว่าจะรักษายังไงรักษากับคุณหมอท่านไหน รักษาที่โรงพยาบาลอะไร ขั้นตอนต่างๆ ในแต่ละโรงพยาบาลก็อาจจะไม่เหมือนกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละโรงพยาบาลก็อาจจะไม่เหมือนกันแล้วก็บางคนอาจจะอยู่ต่างจังหวัดเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพียงคนเดียวไม่มีญาติพี่น้องคอยช่วยดูแล

ทาง HDcare เขาก็มีบริการในส่วนตรงนี้ให้ไม่ว่าจะเรื่องของการประสานงาน การรับ-ส่ง ถ้าคนไข้ต้องการ ผมมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้ดี ในเรื่องของการวางแผนการดูแลสุขภาพ รวมถึงการหาที่รักษา

ในมุมมองของผมคิดว่า HDcare เป็นแพลตฟอร์มที่น่าจะตอบโจทย์คนได้ดีก็เลยมาเข้าร่วมตรงนี้

สำหรับผู้ที่มีปัญหาในด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไส้เลื่อน นิ่วในถุงน้ำดี หรือว่าภาวะโรคอ้วนน้ำหนักเกิน ที่ต้องการรับการรักษาด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง สามารถทักมาสอบถามกับทาง HDcare ได้นะครับ

@‌hdcoth line chat